บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ประกาศความมุ่งมั่นว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าเป็นศูนย์ (Biodiversity and Zero Deforestation) ภายในปี 2573 ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านกลยุทธ์ "ดิน น้ำ ป่า คงอยู่" ซึ่งเป็น 1 ใน 3 กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน คือ "อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่" โดยให้ความสำคัญตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ องค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) นั้น มีความคืบหน้าตามลำดับ
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้ประกาศความมุ่งมั่น ร่วมปกป้อง ฟื้นฟู รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า ตลอดห่วงโซ่อุปทาน จับมือคู่ค้าธุรกิจจัดหาวัตถุดิบจากแหล่งยั่งยืน ขับเคลื่อนเป้าหมาย "องค์กรคาร์บอนต่ำ" ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เดินหน้าสร้างความมั่นคงทางอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของประชากรโลก
ความมุ่งมั่นฯดังกล่าว นอกจากครอบคลุมกิจการซีพีเอฟและบริษัทย่อย ซึ่งประกอบด้วย ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงสัตว์ (การเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำ) และ ธุรกิจอาหาร (การผลิตอาหารและช่องทางการจำหน่าย) ยังรวมไปถึงคู่ค้าธุรกิจ เกษตรกรกรที่จัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรให้กับบริษัท อาทิ ข้าวโพด ปลาป่น น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลืองและมันสำปะหลัง ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับคู่ค้าธุรกิจ และเกษตรกร เพื่อยุติการบุกรุกพื้นที่ป่า ด้วยกระบวนการจัดซื้อที่รับผิดชอบผนวกกับระบบตรวจสอบย้อนกลับที่โปร่งใสตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถระบุถึงแหล่งปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่บุกรุกป่าได้ครบ 100% และยังได้ต่อยอดนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังได้ดำเนินโครงการ "เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน" เพื่อส่งเสริมและแบ่งปันความรู้แก่เกษตรกรข้าวโพดในประเทศไทยในการเพาะปลูกที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ลดการใช้สารเคมี ช่วยลดผลกระทบต่อการภเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการพัฒนาและปฏิบัติตามแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Management Plans) ติดตามประสิทธิภาพการตรวจสอบย้อนกลับของคู่ค้า เพื่อสร้างความมั่นใจว่าแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า รวมไปถึงการตรวจประเมินคู่ค้าเพื่อตรวจสอบ ประเมินการดำเนินงานและแนวปฏิบัติในความสามารถตรวจสอบย้อนกลับกับกลุ่มผู้ผลิต
“ซีพีเอฟ ตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีความสำคัญต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารและความมั่นคงทางอาหาร จึงได้ประกาศความมุ่งมั่น ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่า” นายประสิทธิ์ กล่าว
นายประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประกาศความมุ่งมั่นเพื่อร่วมยุติปัญหาการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ มีผลต่อเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการที่ต้นไม้ช่วยกักเก็บคาร์บอน ปกป้องสุขภาพดิน ป้องกันไม่ให้เกิดการทำลายและชะลอความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ตัดไม้ทำลายป่าตั้งแต่ต้นทางของห่วงโซ่อุปทาน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีส่วนร่วมอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟู ผืนป่าทั้งป่าบกและป่าชายเลน ผ่านการ ดำเนินโครงการต่างๆ อาทิ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ฟื้นฟูป่า ต้นน้ำในพื้นที่ ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ. ลพบุรี โครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ ในพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และพังงา เป็นต้น