ตามที่ สำนักงานศุลกากรจีนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of China Customs: GACC) แจ้งความประสงค์ขอสุ่มตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้ทุเรียน ลำไย มังคุด และมะพร้าวของไทยที่ส่งออกไปจีนจำนวน 3 สวน 3 โรงคัดบรรจุ ต่อ 1 พืชเพื่อสร้างความมั่นใจในการควบคุมดูแลศัตรูพืชในสวนผลไม้และมาตรการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ของไทยนั้น มีความคืบหน้าตามลำดับ
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดแผนการตรวจประเมินผลไม้ทั้ง 4 ชนิด โดยมีเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร เกษตรกรเจ้าของสวน และผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ปฏิบัติงานจริงให้ผู้เข้าร่วมการตรวจประเมินฝ่ายจีนจำนวน 5 รายได้ตรวจประเมินผ่านระบบ VDO Conference
โดยผู้รับการตรวจประเมินฝ่ายไทยเป็นหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1, 2, 5, 6 และ 7 และมีผู้แทนจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง และผู้แทนจากฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ร่วมอยู่ในการตรวจประเมินดังกล่าวด้วย
ตามแผนการตรวจประเมิน วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมาได้ตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุมะพร้าวเป็นพืชแรก โดย เป็นสวนมะพร้าวของเกษตรกร จ. ราชบุรี 2 สวนและ จ.กำแพงเพชร 1 สวน โรงคัดบรรจุ จ.ราชบุรีจำนวน 3 โรงคัดบรรจุ วันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ตรวจประเมินสวนมังคุด จ.จันทบุรีจำนวน 3 สวน และโรงคัดบรรจุ จ.จันทบุรีจำนวน 3 โรงคัดบรรจุ วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ตรวจประเมินสวนทุเรียน จ.ชุมพรจำนวน 3 สวน และโรงคัดบรรจุ จ.ชุมพรจำนวน 3 โรงคัดบรรจุ วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ตรวจประเมินสวนลำไย จ.ลำพูนจำนวน 2 สวน และจ.เชียงใหม่ 1 สวน โรงคัดบรรจุ จ.ลำพูน 2 โรงคัดบรรจุ และจ.เชียงใหม่ 1 โรงคัดบรรจุ
นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า จากผลการตรวจประเมินสวนและโรงคัดบรรจุพืชทั้ง 4 ชนิดในภาพรวมทั้งหมดเบื้องต้นผ่านการพิจารณาจากฝ่ายจีน แต่อย่างไรก็ตาม จีนได้เน้นย้ำให้ไทยเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันศัตรูพืชในแปลงปลูกของเกษตรกรและโรงคัดบรรจุอย่างเข้มงวด เนื่องจากที่ผ่านมาเคยตรวจพบศัตรูพืชในลำไยส่งออกจากไทย
กรมวิชาการเกษตรได้รับข้อคิดเห็นดังกล่าวเพื่อแจ้งให้เกษตรกรและผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุได้ทราบพร้อมกับได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชของกรมวิชาการเกษตรเพิ่มความเข้มงวดในตรวจสอบเพิ่มขึ้นต่อไป รวมทั้งได้แจ้งให้ฝ่ายจีนทราบว่าจะมีเจ้าหน้าที่ภายในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรเข้าไปตรวจติดตามแปลงเกษตรกรปีละ 1 ครั้งตามข้อกำหนดของ GAP พร้อมกับให้คำแนะนำเกษตรกรเรื่องศัตรูพืชและการเฝ้าระวังศัตรูพืชในสวน
นอกจากนี้ ฝ่านจีนได้เน้นย้ำการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด 19 ภายในสวนและโรงคัดบรรจุ ซึ่งฝ่ายจีนให้ความสำคัญตั้งแต่จุดรับวัตถุดิบที่ต้องมีการคัดกรองคนงาน มีการตรวจวัดอุณหภูมิพนักงานก่อนเข้า-ออกโรงงาน มีการเว้นระยะห่างของพนักงาน รวมถึงมีการฆ่าเชื้อสำหรับวัสดุอุปกรณ์/รถขนย้ายสินค้า/ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรจะได้แจ้งให้ผู้ประกอบการได้เฝ้าระวังและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
“โดยรวมแล้วการตรวจประเมินครั้งนี้ผ่านไปด้วยดีโดยไทยได้รับข้อเสนอแนะของฝ่ายจีนเพื่อนำมาเน้นย้ำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้เฝ้าระวังทั้งเรื่องศัตรูพืชและการปนเปื้อนเชื้อไวรัส โควิด-19 ซึ่งเป็นข้อกังวลของฝ่ายจีนเพิ่มมากขึ้นจากเดิม พร้อมกันนี้จีนยังได้ติดตามข่าวการปราบปรามการสวมสิทธิ์ผลไม้จากประเทศอื่นเพื่อส่งออกไปจีนของไทยและชื่นชมการดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะการสวมสิทธิ์ทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัจจุบันจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนผลสดจากประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นโดยขอให้ไทยดำเนินการตามมาตรการป้องกันดังกล่าวอย่างเข้มงวดต่อไป”