นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมขับเคลื่อนการปลูกสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมแพทย์แผนไทยพัฒนาเป็นยาต้านไวรัสโควิด19 ทั้งนี้ได้ให้กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์ทำโครงการส่งเสริมการปลูกฟ้าทะลายโจรในสถาบันเกษตรกร ซึ่งกรมวิชาการเกษตร จะสนับสนุนพันธุ์ที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์สูงให้กับสหกรณ์ที่ร่วมโครงการ ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและอนาคตอาจจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่
“โครงการนี้จะเริ่มทยอยปลูกตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไปถึงเดือนธันวาคม 2564 คาดจะได้ครบจำนวน 100 ไร่ในพื้นที่สหกรณ์ 5 แห่งและปี 65 จะเริ่มอีก 400 ไร่ใน 20 สหกรณ์ ซึ่งตลาดคือกรมแพทย์แผนไทย โดยจะคัดเลือกสหกรณ์ที่มีความพร้อมและพื้นที่เหมาะสม จากนั้นกรมวิชาการเกษตรจะเป็นพี่เลี้ยงแนะนำการปลูกเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่กรมแพทย์แผนไทยต้องการ และอนาคตคาดหวังว่าสหกรณ์จะเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรให้กับประเทศ” รมช.เกษตรฯกล่าว
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ต้นฟ้าทะลายโจรซึ่งมีปริมาณสารสำคัญคือสารแอนโดรกราโฟไดล์ มากกว่าที่มาตรฐานยาสมุนไพรไทยกำหนดว่าควรมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ไม่น้อยกว่า 1% โดยน้ำหนักแห้ง แต่พบว่าสายพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรพัฒนาสำเร็จคือสายพันธุ์พิจิตร 4-4 มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์มากถึง 12.20 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม และสายพันธุ์พิษณุโลก 5-4 มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์มากถึง 8.89 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม
ดังนั้น กรมจะร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อป้อนให้กับกระทรวงสาธารณสุข สำหรับนำไปผลิตยาเพื่อต่อสู้กับการระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 ร่วมถึงการพัฒนาสมุนไทยยาไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคและอนาคตจะสามารถส่งเสริมการขยายตัวของวงการสมุนไพรไทยได้อีกทางหนึ่งตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตรจะสนับสนุนพันธุ์และเมล็ดพันธุ์เพื่อใช้ในโครงการนี้ต่อไป
ในเบื้องต้นกรมจะสนับสนุนกล้าเพื่อให้สหกรณ์ที่เข้าโครงการได้เริ่มเพาะปลูกก่อนเพื่อจะได้ช่วยกันขยายพันธุ์ พร้อมกับเป็นวัตถุดิบทางยาในสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งอายุในการปลูกและเก็บเกี่ยวจะเฉลี่ย 80 วันนับแต่วันที่ปลูก ทั้งนี้กรมวิชาการเกษตรจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปแนะนำและเป็นพี่เลี้ยงให้กับสหกรณ์ที่ประสงค์เข้าโครงการเพื่อตรวจสอบดินและแนะนำการปลูกที่ถูกต้องปลอดการปนเปื้อน พร้อมนี้กรมวิชาการเกษตรจะเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ซึ่งคาดว่าจะมีเมล็ดพันธุ์ได้อย่างเพียงพอในช่วงประมาณ เดือนมีนาคม 2565 นี้
สำหรับทั้ง 2 สายพันธุ์นี้กรมได้มีการคัดจากการปรับปรุงสายพันธุ์ฟ้าทะลายโจรตั้งแต่ปี 2547-48 โดยการรวบรวมฟ้าทะลายโจรจาก 9 แหล่งเพาะปลูกของไทยประกอบด้วย ชัยนาท เชียงใหม่ นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ พิจิตร พิษณุโลก ราชบุรี สระแก้ว และสระบุรี มาปลูกในแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร ผสมตัวเองแยกต้น จำแนกความต่างทางพันธุกรรมด้วยวิธี HAT-RAPD คัดเลือกสายพันธุ์แท้ และวิเคราะห์หาความแตกต่างของปริมาณสาระสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ และเก็บรักษาพันธุ์ จากนั้นในปี 2552-53 ได้มีการประเมินผลผลิตเบื้องต้นในแปลงทดลองศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพิจิตร
สายพันธุ์พิจิตร 4-4 จะให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,880 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์การค้าร้อยละ 14.1 มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 12.20 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม อายุเก็บเกี่ยวที่ระยะออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ 82 วัน
สายพันธุ์พิษณุโลก 5-4 ให้ผลผลิตเฉลี่ย 4,187 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าพันธุ์การค้าร้อยละ 20.4 มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 8.89 กรัมต่อน้ำหนักแห้ง 100 กรัม อายุเก็บเกี่ยวที่ระยะออกดอก 50 เปอร์เซ็นต์ 77 วัน
อย่างไรก็ตามเกษตรกรหรือประชาชนผู้สนใจต้องการปลูกฟ้าทะลายโจรและมีพันธุ์อยู่แล้วสามารถที่จะเข้าไปศึกษาการปลูกที่ถูกต้องได้ทางเว็บไซด์ของกรมวิชาการเกษตรเพื่อที่จะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและไม่มีการปนเปื้อน โดยกรมจะจัดทำคู่มือการปลูกเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้ประโยชน์ได้ประมาณสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้