รัฐบาลให้ความสำคัญลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี เชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่งสินค้า ไปยังจัวหวัดใกล้เคียงและประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างสะดวกรวดเร็วอีกทั้งยังช่วยสร้างความเจริญให้กับพื้นที่อีกด้วย
รายงานข่าวจากกรมทางหลวง ระบุรายละเอียดโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อเชื่อมโยงทางหลวงหมายเลข 304 ไปยังภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามนโยบายของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ว่า
ในปัจจุบันมีทางหลวงสายสำคัญที่ตัดผ่านตัวเมืองฉะเชิงเทรา คือทางหลวงหมายเลข 304 ทางหลวงหมายเลข 3200 ทางหลวงหมายเลข 314 และทางหลวงหมายเลข 315 มีปริมาณจราจรหนาแน่น จึงมีแนวคิดก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองขึ้น
โครงการดังกล่าวจะใช้งบประมาณ 33,200 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าก่อสร้างประมาณ 23,500 ล้านบาท และค่าเวนคืนประมาณ 9,700 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 แล้วเสร็จในปี 2570สำหรับลักษณะโครงการเป็นวงแหวนรอบเมืองฉะเชิงเทรา ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร
รูปแบบเป็นทางหลวงขนาด 6 ช่องจราจร โดยมีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณทางหลวงหมายเลข 304 (สุวินทวงศ์-ฉะเชิงเทรา) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 365 (แยกสตาร์ไลท์) โดยพื้นที่ที่แนวเส้นทางพาดผ่าน ประกอบด้วยพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอคลองเขื่อน อำเภอบางคล้า และอำเภอบ้านโพธิ์
โครงการนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกด้านเหนือ ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 304 (ประมาณ กม.63+712) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 365 (แยกสตาร์ไลท์) และสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 304 (ประมาณ กม.82+200) ช่วงที่ 2 ด้านใต้ ส่วนที่ 1 ระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 304 (ประมาณ กม.82+200) และสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 314 (ประมาณ กม.14+800) และช่วงที่ 3 ด้านใต้
ส่วนที่ 2 ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร เริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 314 (ประมาณ กม.14+800) และสิ้นสุดที่ทางหลวงหมายเลข 304 (ประมาณ กม.63+712) บริเวณจุดตัดกับทางหลวงหมายเลข 365 (แยกสตาร์ไลท์)
กรมทางหลวงพิจารณาว่าช่วงที่เป็นจุดตัดกับทางหลวงอื่นจะทำเป็นยกระดับทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ 1.บริเวณจุดตัดทางหลวง หมายเลข 365 (ทางแยกต่างระดับท่าไข่) 2.บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 3200 (ทางแยกต่างระดับบางขวัญ) 3.บริเวณทางแยกทางหลวงหมายเลข 304 (ทางแยกต่างระดับเสม็ดใต้)
4.บริเวณทางแยกทางหลวงหมายเลข 315 (ทางแยกต่างระดับหนองบัว) 5.บริเวณทางแยกทางหลวงหมายเลข 314 (ทางแยกต่างระดับประเวศ 1) 6.บริเวณจุดตัดทางหลวงชนบทสาย ฉช.3001 (ทางแยกต่างระดับประเวศ 2) 7.บริเวณจุดตัดทางหลวงชนบทสาย ฉช.2004 (ทางแยกต่างระดับบางเตย) 8.บริเวณทางแยกทางหลวงหมายเลข 304 (ทางแยกต่างระดับวังตะเคียน)
โครงการนี้หากก่อสร้างแล้วเสร็จนอกจากจะรองรับการเดินทางการขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวแล้วยังสร้างความเจริญให้กับท้องที่ โดยเฉพาะการเข้าจับจองพื้นที่พัฒนาที่อยู่อาศัยของบริษัทอสังหาริมทรัพย์กลายเป็นทำเลทองแห่งใหม่ที่น่าจับตาอีกด้วย
:หนังสือพิมพ์ฐานเศณษฐกิจ