มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สทอภ. หรือ GISTDA (จิสด้า) เปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ การทดสอบและสาธิตพาหนะเคลื่อนที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV Car) ผ่านระบบ ZOOM และ เฟชบุคไลฟ์ ผ่านเพจสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมี นิสิต นักศึกษา บุคลากร กลุ่มผู้ประกอบการ ประชาชน และสื่อมวลชน กว่า 200 คน ร่วมกิจกรรม
ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานเปิดงาน โดยมี ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ (องค์การมหาชน) รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. รศ.ดร.มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และพันธกิจสังคม ม.อ. ร่วมงาน
กิจกรรมนี้มีนายทศวรรษ ฟูเกียรติสุทธิ์ นักพัฒนานวัตกรรม จาก GISTDA และรศ.ดร.ณัฎฐา จินดาเพ็ชร์ หัวหน้าโครงการพื้นที่ต้นแบบการทดสอบนวัตกรรม 5G (Sandbox) เพื่อการพัฒนาพาหนะไร้คนขับนำทางด้วยเทคโนโลยีเชิงตำแหน่งความละเอียดสูง (GNSS อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นวิทยากร
ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การถ่ายทอดองค์ความรู้การทดสอบและสาธิตพาหนะเคลื่อนที่ขับเคลื่อนโดยมอเตอร์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV Car)
เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพื้นที่ต้นแบบการทดสอบนวัตกรรม 5G (Sandbox) เพื่อการพัฒนาพาหนะไร้คนขับนำทางด้วยเทคโนโลยีเชิงตำแหน่งความละเอียดสูง (GNSS) โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและพัฒนา จากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศษฐกิจและสังคม
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีระบุตำแหน่ง และนำทางด้วยดาวเทียม ในชีวิตประจำวัน เราสัมผัสเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อย่าง โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ นาฬิกา ล้วนแล้วแต่พึ่งพาเทคโนโลยี GNSS แทบทั้งสิ้น
การพัฒนาพาหนะไร้คนขับ มีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วในอนาคต เนื่องจากสามารถช่วยลดอุบัติเหตุ เป็นตัวเลือกในการเดินทางสำหรับคนที่ไม่สามารถขับรถได้ การประยุกต์ใช้ในแปลงเกษตรกรรม การขนส่ง และอุตสาหกรรมต่างๆ
รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า การเรียนรู้เทคโนโลยีเชิงตำแหน่งความละเอียดสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถเชื่อมโยงการใช้งานจริงที่ยั่งยืน เป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดการส่งเสริมเทคโนโลยีเชิงตำแหน่งความละเอียดสูง รองรับความร่วมมือการทดสอบเทคโนโลยี 5G ในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการใช้ข้อมูลเชิงตำแหน่งรายละเอียดสูง (GNSS) และเทคโนโลยี 5G
เพื่อให้เกิดการให้บริการข้อมูล และการใช้ข้อมูลจากผู้ประกอบการ เพื่อประยุกต์ใช้ในหลายภาคส่วน สามารถก่อให้เกิดการสร้างสรรค์มูลค่า ได้จริงอย่างยั่งยืน