นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามผลการเปิดใช้เส้นทางที่อนุญาตให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม. และความคืบหน้าการขยายเส้นทางที่จะเปิดใช้ในระยะถัดไป ว่า กรมทางหลวง (ทล.) ได้นำเสนอผลการใช้งานของประชาชนในเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วง บางปะอิน - อ่างทอง ที่ได้เปิดใช้ไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 ซึ่งผู้ขับขี่ได้มีการใช้ความเร็วตามความเร็วจำกัดในแต่ละช่องทางดีขึ้น โดยตรวจสอบจากสัดส่วนยานพาหนะที่วิ่งด้วยความเร็วที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดในแต่ละช่องทาง พบว่ามีการฝ่าฝืนการใช้ความเร็วในแต่ละช่องจราจรลดลง เทียบกับก่อนการบังคับใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ทั้งนี้ กองบังคับการตำรวจทางหลวงได้รายงานว่า ในช่วงเส้นทางดังกล่าวมีการบังคับใช้กฎหมายและมีการออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืนอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันเส้นทางที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกัน ระหว่างกรมการขนส่งทางบกและกรมทางหลวงภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 ที่กระทรวงคมนาคม
“ได้กำชับให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมาตรการทางสาธารณสุขและประกาศที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้กรมทางหลวงประชาสัมพันธ์และสื่อสารให้ประชาชนผู้ใช้เส้นทางอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง ทั้งในมิติของเส้นทางที่จะดำเนินการ และวันที่ที่ประชาชนจะสามารถใช้ความเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. ได้ตามกฎกระทรวง และ ประกาศผู้อำนวยการทางหลวง เพื่อให้เกิดการรับรู้อย่างทั่วถึง และ ถูกต้องต่อไป ทั้งนี้เส้นทางดังกล่าวจะมีการกำหนดแผนที่จะเปิดเส้นทางที่อนุญาตให้ประชาชนผู้ขับขี่ใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ในช่องทางขวาสุดเพิ่มเติมอีก โดยมีเส้นทางตามแผนรวมระยะทางทั้งสิ้น 246 กิโลเมตร”
สำหรับเส้นทางที่อนุญาตให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม. ระยะที่ 2 จะเปิดให้ใช้ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป จำนวน 6 สายทาง ประกอบด้วย 1. ทล. 1 (สนามกีฬาธูปะเตมีย์ - ประตูน้ำพระอินทร์) กม. 35+000 - กม. 45+000 จ.ปทุมธานี ระยะทาง 10 กิโลเมตร 2. ทล. 1 (หางน้ำหนองแขม - วังไผ่) กม. 306+640 - กม. 330+600 จ.นครสวรรค์ ระยะทาง 23.96 กิโลเมตร 3. ทล. 2 (บ่อทอง - มอจะบก) กม. 74+500 - กม. 88+000 จ.นครราชสีมา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร 4. ทล. 32 (อ่างทอง - โพนางดำออก) กม. 50+000 - กม. 111+473 จ.อ่างทอง, จ.สิงห์บุรี ระยะทาง 61.473 กิโลเมตร 5. ทล. 34 (บางนา - ทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) กม. 1+500 - กม. 15+000 จ.สมุทรปราการ ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร 6. ทล. 304 (คลองหลวงแพ่ง - ฉะเชิงเทรา) กม. 53+300 - กม. 63+000 จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 9.7 กิโลเมตร
ทั้งนี้ในระยะที่ 3 จะเปิดให้ใช้เส้นทางที่อนุญาตให้รถวิ่งได้ 120 กม./ชม. ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป จำนวน 5 สายทาง ประกอบด้วย 1. ทล. 4 (เขาวัง - สระพระ) กม. 160+000 - กม.167+000 จ.เพชรบุรี ระยะทาง 7 กิโลเมตร 2. ทล. 4 (เขาวัง - สระพระ) กม. 172+000 - กม.183+500 จ.เพชรบุรี ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร 3. ทล. 9 (บางแค - คลองมหาสวัสดิ์) กม. 23+000 - กม. 31+872 เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 8.872 กิโลเมตร 4. ทล. 35 (นาโคก - แพรกหนามแดง) กม. 56+000 - กม. 80+600 จ.สมุทรสงคราม ระยะทาง 24.6 กิโลเมตร 5. ทล. 219 (สตึก - หัวถนน) กม. 108+500 - กม. 122+000 จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร ส่วนระยะที่ 4 จะเปิดให้ใช้ได้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป จำนวน 3 สายทาง ประกอบด้วย 1. ทล. 1 (หนองแค - สวนพฤกษาศาสตร์พุแค) กม. 79+000 - กม. 105+000 จ.สระบุรี ระยะทาง 26 กิโลเมตร 2.ทล. 347 (เทคโนโลยีปทุมธานี - ต่างระดับเชียงรากน้อย) กม. 1+000 - กม. 11+000 จ.ปทุมธานี ระยะทาง 10 กิโลเมตร 3. ทล. 219 (สตึก - หัวถนน) กม. 122+000 - กม. 134+500 จ.บุรีรัมย์ ระยะทาง 12.5 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตามความคืบหน้าโครงการยกระดับความปลอดภัยบนทางหลวงสายหลัก จำนวน 47 เส้นทาง โดยเป็นเส้นทางในภาคเหนือ 9 เส้นทาง ระยะทาง 186 กิโลเมตร เส้นทางในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 เส้นทาง ระยะทาง 96 กิโลเมตร เส้นทางในภาคกลาง 15 เส้นทาง ระยะทาง 288 กิโลเมตร เส้นทางในภาคตะวันออก 9 เส้นทาง ระยะทาง 177 กิโลเมตร และเส้นทางในภาคใต้ 7 เส้นทาง ระยะทาง 116 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งสิ้น 863 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องมีการก่อสร้างกำแพงคอนกรีต สะพานกลับรถหรือทางลอดกลับรถ สะพานคนเดินข้าม พร้อมทั้งปรับปรุงกายภาพ เส้นทางให้ปลอดภัย สามารถรองรับความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. โดยได้กำชับให้กรมทางหลวงเตรียมการออกแบบให้เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนผู้สัญจรใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ต่อไป