นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หารือกับนายแดน เทฮัน รัฐมนตรีการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของออสเตรเลีย ผ่านระบบ Zoom Confirm เป็นการประชุมทางไกล กล่าวว่า ประเทศไทยกับออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ในทางการทูตกันมาครบปีที่ 69 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันเมื่อปีก่อนคือปี 2563 มูลค่า 13,198 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 409,021 ล้านบาท
ทั้งนี้ประเด็นที่หารือประกอบด้วย ทางออสเตรเลียมีความสนใจจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจกับไทย แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ทางการค้าในรูปแบบทวิภาคี หรือ FTA ลดภาษีระหว่างกันเกือบครบทุกรายการ แต่การจัดทำหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยออสเตรเลียจะเป็นอีกรูปแบบความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนที่ลงลึกกว่า FTA
ขณะนี้มีการเตรียมการจัดทำข้อตกลงใน 7 สาขา คือ1.การเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะด้านอาหาร 2.ด้านการท่องเที่ยว 3.ด้านบริการสุขภาพ 4.ด้านการศึกษา 5.ด้านอีคอมเมิร์ซ 6.ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 7.อื่นๆ เช่น พลังงานหรือการลงทุนร่วมกัน เป็นต้น ออสเตรเลียแจ้งว่าจะเร่งให้ได้ข้อสรุปเร็ว เมื่อได้ข้อสรุปแล้วคาดว่าจะลงนามในปีหน้า นอกจากนี้ยัง เสนอให้รัฐมนตรีพาณิชย์ของทั้ง 2 ประเทศประชุมอย่างเป็นทางการเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง
การเร่งรัดข้อตกลง RCEP มีประเทศให้สัตยาบันแล้ว 3 ประเทศ สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยคาดว่าให้สัตยาบันต่อจาการ์ตาได้ในเดือนตุลาคมหรือไม่เกินเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งออสเตรเลียแจ้งว่าจะยื่นได้ในช่วงเวลาประมาณเดียวกันเพื่อให้ RCEP มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็วภายในต้นปีหน้าตามเป้าหมายรวมถึงการอุดหนุนการประมง โดยไทยมีจุดยืนในการสนับสนุนประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้าน โดยห้ามการอุดหนุน IUU Fishing (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) หรือการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมตามข้อตกลงของ IUU ซึ่งออสเตรเลียเห็นคล้อยตามกัน
ขณะที่ประเด็น APEC ซึ่งปีนี้ประเทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพอยู่จากนั้นปีหน้าประเทศไทยเราจะเป็นเจ้าภาพซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ ทางออสเตรเสียได้สอบถามถึงประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยได้เตรียมไว้ จึงแจ้งว่าเตรียมประเด็นใหญ่ไว้ 3 ประเด็น 1.การเจรจาหาข้อสรุปการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก APEC 2.ข้อสรุปในการกำหนดแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด 3.การส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของกลุ่มประเทศ APEC ภายใต้ทิศทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ได้มีข้อเสนอ 2 ประเด็นหลัก คือ ขอให้ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้นซึ่งเช่น 1.สินค้าด้านการเกษตร โดยเฉพาะยางรถยนต์ ซึ่งออสเตรเลียเลิกผลิตแล้วทั้งชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์ ต้องนำเข้าเป็นโอกาสดีสำหรับยางรถยนตร์ของไทยที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบ 2.อุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะถุงมือยาง เพราะไทยถือเป็นแหล่งผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของโลกและจะเป็นการช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง 3.อาหารแปรรูป และ4.อาหารสัตว์เลี้ยง เพราะอัตราขยายตัวสูงมากและออสเตรเลียจัดเป็นตลาดสำคัญต่อไปในอนาคตได้
ส่วนประเด็นที่สอง เนื่องจากออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ ขณะนี้ออสเตรเลียได้บริจาควัคซีนให้กับหลายประเทศ ดังนั้นจึงได้แจ้งให้รัฐมนตรีออสเตรเลียทราบว่าถ้าออสเตรเลียจะช่วยสนับสนุนวัคซีนให้กับประเทศไทยนั้นทางไทยก็ยินดีและขอขอบคุณล่วงหน้าในไมตรีจิต โดยรัฐมนตรีออสเตรเลียแจ้งว่าขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการพิจารณาเรื่องนี้