ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ กระจายตั้งแต่ยุโรปอย่างเยอรมนี เบลเยี่ยม อังกฤษ มายังเอเชียอย่างญี่ปุ่น อิหร่าน จีน อินเดีย ฯลฯ จนเกิดน้ำท่วมเป็นอุทกภัยร้ายแรง ทำลายทรัพย์สินและคร่าชีวิตคน ส่วนใหญ่เกิดจากฝนที่ตกหนักมาก จนเรียกขานเป็นฝนพันปี สะท้อนถึงสถิติปริมาณน้ำฝน
“ประเทศไทยประมาทไม่ได้เหมือนกัน เพราะมีโอกาสจะเผชิญปัญหาอุทกภัย 70-80%” ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว โดยระบุว่าจากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยาร่วมกับหลายหน่วยงาน มีความเป็นไปได้สูงว่า ฝนจะตกหนักในช่วงเดือนกันยายน 2564 ตั้งแต่ช่วง จ.นครสวรรค์ ลงมาถึงพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง
“ประเมินว่า ปลายเดือนสิงหาคมเข้าสู่เดือนกันยายน มีทั้งร่องความกดอากาศต่ำ และพายุ จะพาดผ่านเข้ามาในพื้นที่ภาคกลาง ไล่ลงมาถึงกรุงเทพฯ”
กรุงเทพฯ เป็นที่ลุ่มปลายน้ำ และเป็นไข่แดง เพราะเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางของทุกอย่าง จึงต้องให้น้ำหนักโดยปริยายอยู่แล้ว ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำเขื่อนต่างๆ กระเตื้องดีขึ้น สิงหาคมก็เช่นเดียวกัน
สทนช. ยังคงนโยบายเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด เพื่อเป็นน้ำต้นทุนใช้ในฤดูแล้งถัดไป เพราะสิ้นเดือนกรกฏาคม มีปริมาณน้ำในอ่างกว่า 36,000 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 49% ของความจุรวมกว่า 76,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ยังเหลือความจุรองรับได้มากใกล้เคียงกันถึง 51%
ส่วนเดือนกันยายน ยังไงฝนจัดหนักแน่จะหนักถึงขนาดเป็นฝนพันปีอย่างที่เกิดในจีนหรือไม่?เลขาธิการ สทนช. ให้ความเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นฝนพันปีอย่างจีน ที่มีปริมาณฝนสะสมรวม 3 วันกว่า 600 มิลลิเมตร แต่คาดหมายว่าอาจเป็นฝน 200 ปี ปริมาณฝนจะอยู่ที่ 260 มิลลิเมตร/วัน พื้นที่เสี่ยงต่อฝนตกหนักอยู่ที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ช่วงปลาย มีความหนาแน่น มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ
“ถ้าตกหนักที่ 260 มม./วัน กทม. มีขีดความสามารถระบายน้ำอยู่ที่ 120 มม./วัน จะมีน้ำเหลือรอระบาย 140 มม./วัน ถ้าตกหนักวันเดียวยังพอรับมือได้ โดยไม่ท่วมขังนาน ยกเว้นตกหนักต่อเนื่อง 2-3 วัน อย่างนั้น นอกจากท่วมขังนาน จะมีความเสียหายหนักตามมาด้วย”
อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ซึ่งมี พล.อ.ประวิตร
วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. ไม่ได้นิ่งนอนใจมาแต่ต้น หากได้ออก 10 มาตรการเตรียมรับมือกับฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 มีทั้งการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ฝนทิ้งช่วง การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก
ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-ขนาดกลาง และแผนบริหารจัดการช่วงวิกฤต ซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ และสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชและผักตบชวาในลำน้ำ เป็นต้น
“มาตรการนี้มีการกำชับเป็นระยะๆ ขึ้นกับแต่ละหน่วยงานไปดำเนินการ หากเกิดวิกฤตน้ำ ฝนตกมากจริงก็จะช่วยแบ่งเบา บรรเทาความรุนแรงลงได้ เช่น การเก็บน้ำในแก้มลิง 12 ทุ่ง การกำจัดผักตบชวา การเตรียมความพร้อมสถานีสูบน้ำ การจัดเตรียมน้ำมันสำหรับเครื่องสูบน้ำ”
สำหรับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง รับทั้งผลจากพายุและฝนที่ตกในพื้นที่ภาคกลางไหลหลากลงมาสมทบ รวมทั้งน้ำทะเลหนุนนั้น ได้รับโจทย์เดียวกัน เช่น การขุดลอกคูคลอง การจัดเก็บขยะ การจัดการน้ำผ่านอุโมงค์ ระบบไฟฟ้าสำรอง และ ฯลฯ
“กันยายนมาแน่ หนักหรือเบาเท่านั้น ที่ต้องวางแผนจริงจังกรณีฝนหนักต่อเนื่อง 2-3 วัน ฉะนั้นตอนนี้ ต้องเร่งทำมาตรการต่างๆ ให้เสร็จสิ้นก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม ช้ากว่านี้ไม่ทันการณ์“ ดร.สมเกียรติ กล่าวเตือน
เลขาธิการ สทนช. กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ทุกหน่วยปฏิบัติการด้านน้ำอย่าได้ประมาทสถานการณ์น้ำเป็นอันขาด เพราะปรากฏการณ์ฝนตกหนัก ทยอยเกิดเป็นอุทกภัยรุนแรงในภูมิภาคต่างๆ ของโลกมาแล้ว สร้างความเสียหายร้ายแรงอย่างที่เห็น เท่ากับส่งสัญญาณแจ้งเตือนให้ประเทศไทยต้องระวัง โดยเตรียมความพร้อมรับมืออย่างเต็มที่
จะเป็นฝนพันปี ฝนร้อยปี หากหน่วยงานรัฐเตรียมความพร้อมเต็มที่ แม้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติก็จะลดทอนผ่อนปรนความรุนแรงเสียหายลงได้ ไม่ให้ “ภัยธรรมชาติ” มาซ้ำเติมอีกในช่วงวิกฤติโควิด-19