ขยี้ “ไกลโฟเซต”  จำกัดการใช้ ล้มเหลว "ขายออนไลน์" สะพัด

11 ส.ค. 2564 | 12:50 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ส.ค. 2564 | 19:57 น.

เครือข่ายไทยแพน ขยี้ “ไกลโฟเซต” ก่อมะเร็ง ถอดโมเดล “ ไบเออร์” ศาลอุทธรณ์ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกายืนคำตัดสินให้ไบเออร์ จ่าย 2,870 ล้านบาท ในขณะที่ไทยยังขายเกลื่อนออนไลน์ ชี้ “กรมวิชาการเกษตร” จำกัดการใช้ ล้มเหลว

เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) โพสต์ผ่าน เฟซบุ๊ก เมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ในซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกายืนคำตัดสินให้ไบเออร์ (Bayer) จ่าย 2,870 ล้านบาท (86 ล้านดอลลาร์) แก่คู่สามีภรรยา Pilliod ที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (non-Hodgkin's lymphoma) หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าหญ้าราวด์อั้พที่มีไกลโฟเซตเป็นสารออกฤทธิ์

 

เป็นความพ่ายแพ้ในชั้นอุทธรณ์อีกครั้งของไบเออร์ ในคดีที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งจากผลิตภัณฑ์ฆ่าหญ้าที่มีไกลโฟเซตเป็นสารออกฤทธิ์ โดยก่อนหน้านี้ประมาณหนึ่งปี ไบเออร์ล้มเหลวในการเกลี้ยกล่อมศาลอุทธรณ์ของแคลิฟอร์เนียให้คว่ำคำตัดสินคดีของ Dewayne Lee Johnson ผู้ดูแลสนามของโรงเรียนที่อ้างว่าการใช้ราวด์อั้พก่อให้เกิดมะเร็ง และอีกคดีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ของรัฐบาลกลางยืนคำตัดสินให้ไบเออร์จ่าย 834 ล้านบาท (25 ล้านดอลลาร์) แก่ Edwin Hardeman ซึ่งเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน

 

“ไบเออร์”ประสบปัญหาคดีความตั้งแต่ซื้อมอนซานโต้ (Monsanto) ซึ่งเป็นเจ้าของ Roundup ในปี 2018 ด้วยมูลค่า 63,000 ล้านดอลลาร์ และแม้ไบเออร์จะยืนกรานว่าไกลโฟเซตนั้นปลอดภัย แต่สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก จัดให้ไกลโฟเซตเป็นสารก่อมะเร็งในชั้น 2A และมีงานวิจัยที่เป็นอิสระจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ของการเป็นมะเร็งกับการสัมผัสไกลโฟเซต

 

ในการพิจารณาคดีล่าสุด ศาลอุทธรณ์กล่าวว่า มอนซานโต้ได้แสดงให้เห็นว่า “ไม่มีความประสงค์ที่จะแจ้งข้อมูลให้สาธารณชนทราบเกี่ยวกับอันตรายจากการก่อมะเร็งของผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในร้านวัสดุก่อสร้างและร้านอุปกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ"

 

มองกลับมาที่ประเทศไทย ครั้งหนึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายเคยมีมติยกเลิกไกลโฟเซตเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 แต่มตินี้มีอายุเพียง 36 วัน ด้วยการล็อบบี้และกดดันอย่างหนักของกลุ่มธุรกิจสารเคมีร่วมกับผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรเพื่อการค้าและกิจการเกษตรต่างประเทศของสหรัฐ ทำให้กรรมการวัตถุอันตรายตามโครงสร้างใหม่

 

โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจเป็นประธาน ได้พลิกมติให้เหลือเพียงจำกัดการใช้ และจากการติดตามศึกษามาตรการดังกล่าวโดย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) พบว่ามาตรการจำกัดการใช้ที่กำกับโดยกรมวิชาการเกษตรนั้นล้มเหลว ประชาชนสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าออนไลน์ทั่วไป