นายวิชัย เข็มทองคำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีบิส เน็ซลิ้งค์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายปลากระป๋องแบรนด์ READY ในไทย เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปลากระป๋องแบรนด์ READY ผลิตโดยบริษัท MAKRO MANUFACTURING เป็นบริษัทร่วมลงทุนกับผู้ลงทุนในเมียนมา และได้รับการรับรองการลงทุนจากรัฐบาลเมียนมา ซึ่งตนมีตำแหน่งเป็นกรรมการ มีโรงงานที่เป็นฐานผลิตอยู่ที่เมืองร่างกุ้งและเมืองมะริด ประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา
สำหรับการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากเมียนมามีปัญหาทางการเมืองภายในแต่อย่างใด เนื่องจากสินค้าทั้งหมดในเครือ นอกจากวางจำหน่ายทั่วทุกพื้นที่ในเมียนมา ไปจนถึงบริเวณพื้นที่ชายแดนเขตติดต่อกับอินเดียด้วย ขณะที่ตลาดปลากระป๋องในไทยมีกำลังซื้อมหาศาล มีขนาดการบริโภคโตกว่าเมียนมาเป็น 10 เท่า จึงเป็นตลาดเป้าหมายที่จะเข้ามาวางสินค้าอยู่แต่เดิมแล้ว
นายวิชัยกล่าวอีกว่า ทาง บริษัทฯ ได้ใช้เวลาเตรียมตัวประมาณ 4-5 ปี ทั้งทางด้าน การปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักรการผลิต การพัฒนาบุคลากร และการได้รับมาตรฐานต่างๆ เพื่อนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อพร้อมทุกอย่างแล้วจึงเริ่มเข้ามาทำตลาดในไทยตั้งแต่เดือนก.ค.2564 นี้ โดยเริ่มที่สมุทรสาครและสมุทร สงคราม เป็น 2 จังหวัดแรก เนื่องจาก
1. สามารถนำเข้ามาได้สะดวกทางด่านสิงขร จากฐานผลิตโรงงานที่มะริด ขนส่งทางรถตัดข้ามมาเข้าไทยที่ด่านสิงขร ประจวบคีรีขันธ์ โดยบริษัทฯ ได้ตั้งโกดังขนาดใหญ่ที่จังหวัดสมุทรสงคราม เพี่อใช้ในการเก็บและกระจายสินค้า
2. สินค้าปลากระป๋อง READY เป็นแบรนด์อ้นดับหนึ่ง ได้รับความนิยมในประเทศเมียนมา ดังนั้น คนเมียนมาและแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ที่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากใน 2 จังหวัดนี้ น่าจะคุ้นเคยกับยี่ห้อสินค้าตัวนี้อยู่แล้ว จึงพุ่งเป้ากลุ่มเป้าหมายที่รู้จักสินค้าดีอยู่แล้วเป็นจุดเริ่มต้น
3. ทั้ง 2 จังหวัดอยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในแผนขยายตลาดสู่เมืองใหญ่ของไทย คือ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ จังหวัดปริมฑลอื่นๆ แล้วขยายไปทั่วประเทศในอนาคต
“ปลากระป๋องแบรนด์ READY ที่นำเข้ามาจำหน่าย จะใช้เวลาทำการตลาดประมาณ 1 ปี ให้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย โดยปีแรกที่เปิดตลาดจะนำเข้าประมาณ 48,000 ลัง ขนาดบรรจุลังละ 100 กระป๋อง ราคาจำหน่ายกระป๋องละ 12-15 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 60 ล้านบาท มีการจำหน่ายทั้งระบบขายส่งผ่านพันธมิตรทางธุรกิจ และผู้ค้าส่งรายใหญ่ ผู้ค้าส่งที่เคยรับสินค้าไปจำหน่าย ทั้งในบริเวณชายแดนแม่สอดและด่านสิงขร ส่วนด้านตลาดค้าปลีกก็จะมีพนักงานขายเข้าไปติดต่อร้านค้าย่อย ร้านค้าในชุมชน และร้านค้าขนาดใหญ่ ในจังหวัดสมุทรสาคร- จังหวัดสมุทรสงคราม”
นายวิชัย กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ทางการตลาดที่สำคัญของสินค้าปลากระป๋องแบรนด์ READY คือ การเป็นทางเลือกใหม่ของสินค้าปลากระป๋องที่มีอยู่เดิมในตลาด และเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ-รสชาติ ที่เป็นที่นิยมของลูกค้า ระดับเดียวกับสินค้าปลากระป๋องชั้นนำในประเทศไทยส่วนราคานั้นผู้ค้าส่งจะได้ส่วนต่างทางการตลาดในอัตราที่ มากกว่า เพื่อให้ผู้ขายส่งผลักดันยอด
บริษัท MAKRO MANUFACTURING รวมทั้งบริษัทในเครือ เช่น Myanmar Makro Industry Co.Ltd. เริ่มเข้าไปเช่าโรงงานผลิตในประเทศเมียนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ต่อมาจึงตั้งโรงงานแห่งแรกในเมืองร่างกุ้ง และมะริด เมื่อ 15 และ 10 ปีที่ผ่านมา
ปัจจุบันบริษัทฯ ใช้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตในเมียนมา แต่นำเข้าบรรจุภัณฑ์และฉลากจากไทย เนื่องจากคุณภาพดีกว่า โดยแต่เดิมโรงงานจะผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดท้องถิ่นเท่านั้น เนื่องจากยังมีข้อจำกัดด้านทุนและแรงงาน ขณะเดียวกันบริษัทฯ ก็มีศูนย์กลางกระจายสินค้าในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองมะริด และเมืองเมาะทีรา ด้วย เมื่อมีความพร้อมจึงเริ่มส่งออกดังกล่าว
สุรพล ระวิวงษ์/รายงาน
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,705 วันที่ 15-18 สิงหาคม พ.ศ.2564