กนอ.อนุมัติตั้งนิคมฯฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้พื้นที่อีอีซีสร้างงาน 8.3 พันคน

15 ส.ค. 2564 | 03:35 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ส.ค. 2564 | 10:34 น.

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยอนุมัติตั้งนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ คาดสามารถสร้างมูลค่าลงทุนได้ 33,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นราว 8,300 คน

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. (บอร์ด กนอ.) มีมติอนุมัติโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ภายใต้ชื่อนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ในรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับ บริษัท ดับเบิ้ลพี แลนด์ จำกัด พื้นที่โครงการอยู่ในตำบลเขาดิน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ประมาณ 1,181 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการ  4,856 ล้านบาท โดยพื้นที่โครงการอยู่ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ ประมาณ 44 กิโลเมตร ท่าเรือแหลมฉบัง ประมาณ 60 กิโลเมตร และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ประมาณ 119 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาพัฒนาพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกและเปิดให้บริการได้ภายใน 2 ปี 
ทั้งนี้ เมื่อเปิดดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนประมาณ 33,200 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 8,300 คน โดยมุ่งเน้นรองรับการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและสมัยใหม่ ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าประจุสูง รวมถึงกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมตามโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรีออีอีซี (EEC

“โครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้ ตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาอีอีซีของรัฐบาล โดย กนอ. ได้รับมอบหมายให้จัดเตรียมพื้นที่รองรับนักลงทุน ซึ่ง กนอ.พิจารณาข้อเสนอของโครงการฯ แล้วเห็นว่าบริษัทฯมีความพร้อมในการพัฒนาโครงการฯ รวมถึงโครงการฯ มีศักยภาพด้านทำเลที่ตั้ง มีเครือข่ายการคมนาคมที่มีศักยภาพเอื้อต่อการลงทุน คาดว่าจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี” 

วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.
สำหรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมฉะเชิงเทรา บลูเทค ซิตี้นั้น แบ่งเป็นพื้นที่ประกอบกิจการประมาณ 70% และเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียวรวมประมาณ 30% โดยได้นำแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ การจัดให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ การจัดสรรพื้นที่สีเขียวภายในนิคมอุตสาหกรรม ไม่น้อยกว่า 10% และการนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาปรับปรุงคุณภาพ ก่อนนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ภายในโครงการ

“โครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ทางการตลาดสูง เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่เป้าหมายคือ พื้นที่อีอีซี ที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดภายใต้มาตรการส่งเสริมของอีอีซี ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม และปัจจุบันมีผู้ประกอบการผลิตอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่มีประจุสูง ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) และอุปกรณ์สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ความสนใจพื้นที่โครงการแล้ว โดยคาดว่าจะขายพื้นที่และให้เช่าพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 4 ปี”