ทูตเกษตรฯ ปักกิ่ง แจง จีนพบ "เชื้อโควิด-19" บนกล่องบรรจุทุเรียน

16 ส.ค. 2564 | 06:27 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ส.ค. 2564 | 13:41 น.

ข่าวจีนสะพัด ตรวจเจอโควิดบนกล่องบรรจุทุเรียน ทูตเกษตรฯ ปักกิ่ง แจงไม่ได้เป็นการตรวจพบนำเข้าที่ด่าน จึงมิได้แบนผู้ประกอบการที่ตรวจเจอ แต่จะส่งผู้บริโภคเกิดความกลัวไม่กล้าชื้อทุเรียนจากไทยเพื่อบริโภค ผวาซ้ำรอย “เซอรี่” นำเข้าของชิลี ทุบนำเข้าลดลง

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง หรือทูตเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง ชี้แจงกรณีตรวจพบเชื้อโควิดบนภายนอกบรรจุภัณฑ์ของทุเรียนไทย ดังนี้

 

1. เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564  เมืองก้านโจว มณฑลเจียงซี ได้ออกประกาศ หลังได้รับรายงานผลการตรวจนิวคลีอิคเป็นบวกจากการสุ่มตัวอย่างบรรจุภัณฑ์ในสินค้าทุเรียนนำเข้าของไทยในพื้นที่ จากการตรวจสอบพบว่า สินค้าล็อตดังกล่าวมีทั้งหมด 30 กล่อง ขณะนี้ถูกเก็บไว้ในโกดังเพื่อควบคุม

 

2. การตรวจพบดังกล่าวเป็นการตรวจสอบประจำของตลาด Haudongcheng เขตจางกง เมืองก้านโจวผู้สัมผัสทั้งหมดถูกกักตัวและทำการตรวจสอบแล้ว พบผลเป็นลบ พื้นที่ที่เกี่ยวข้องและผลไม้ทั้งหมดถูกฆ่าเชื้อ

 

3. ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของเขตจางกง ได้ออกประกาศด่วนเพื่อแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ เกี่ยวกับการเลือกซื้อผลไม้นำเข้าจากแหล่งที่น่าเชื่อถือตรวจสอบแหล่งที่มาได้ ไม่ซื้อจากแหล่งที่ไม่รู้จัก หรือ ออนไลน์ หรือ จากพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึง หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงขณะซื้อและมีมาตรการสุขอามัยหลังการสัมผัส เป็นต้น

 

ข้อเท็จจริง

 

1. สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง ได้ประสานงานกับศุลกากรแห่งชาติจีน กรณีดังกล่าวมิได้เป็นการตรวจพบนำเข้าที่ด่านแต่เป็นการตรวจพบในพื้นที่ จึงมิได้มีประกาศระงับการนำเข้าสำหรับผู้ประกอบการที่ตรวจเจอปัญหาในเว็บไซด์ของศุลกากร

 

ขณะนี้มีการเผยแพร่ผ่านแอพพลิเคชั่น tiktok และ สื่อต่างๆ ของจีน ดังนั้น อาจส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคเกิดความกลัวและไม่กล้าชื่อทุเรียนจากไทยเพื่อบริโภค และส่งผลกระทบต่อปริมาณการนำเข้าของทุเรียนจากผู้นำเข้าจีนเนื่องจากไม่มีความเชื่อมั่น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกรณีการตรวจพบเชื้อโควิดบนในเซอรี่นำเข้าของชิลีเมื่อปีที่ผ่าน มาส่งผลให้การนำเข้าเซอรี่ของชิลีลดลงเป็นอย่างมาก

 

2. ขณะนี้มีรายงานการติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจีนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกรณีแรงงานที่ติดเชื้อจะเป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อบนบรรจุภัณฑ์และสินค้าที่ส่งออกมายังจีน และจีนได้มีการตรวจประเมินโรงงานสินค้าแช่เย็น แซ่แข็งของไทยทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ที่ส่งออกมายังจีน

 

เพื่อตรวจสอบมาตรการควบคุมและป้องกันโควิดของไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงสาธารณสุขอาจต้องมีการหรือแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกันผลกระทบของการส่งออกสินค้าเกษตรในภาพรวม

 

แหล่งข่าววงการค้า  กล่าวว่า การบริหารวัคซีนในประเทศไทย ถือว่าล่าช้า และไร้ประสิทธิภาพเกินไป สุดท้าย ผลกระทบก็มาเยือนทุกหย่อมหญ้า  เตรียมรับผลกระทบอย่างรุนแรง  การแก้ไขจะทันท่วงทีหรือไม่