รฟท.ทุ่ม 452 ล้าน ติดตั้งระบบATP หัวรถจักร ลดอุบัติเหตุทางราง

22 ส.ค. 2564 | 07:21 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ส.ค. 2564 | 14:29 น.

รฟท.เดินหน้าลงนามสัญญาติดตั้งระบบATP หัวรถจักร-รถรางดีเซล 70 คัน หวังแก้อุบัติเหตุทางราง เร่งสำรวจพื้นที่-ออกแบบ คาดติดตั้งแล้วเสร็จปี 66

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า รฟท. ได้ลงนามสัญญากับบริษัทผู้ชนะการประกวดราคา(ประมูล) โครงการออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (Automatic Train Protection : ATP) ให้กับหัวรถจักร 70 คัน วงเงินประมาณ 452 ล้านบาทแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมสำรวจพื้นที่, ตัวรถที่จะติดตั้ง และการออกแบบ ซึ่ง รฟท. จะทยอยส่งมอบรถเพื่อดำเนินการติดตั้งต่อไป โดยจะใช้เวลาติดตั้งระบบแล้วเสร็จประมาณ 2 ปี หรือประมาณปี 66 อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวเป็นระบบที่ได้มาตรฐานควบคุมรถไฟของยุโรป(European Train Control System: ETCS) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินรถมากขึ้น อาทิ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่อาจจะเกิดอันตรายจากการชนกันของขบวนรถไฟ หากมีการฝ่าสัญญาณระบบห้ามล้อจะสามารถเบรกได้อัตโนมัติ และลดการเกิดอุบัติเหตุที่มาจากความผิดพลาดของคน (Human Error) ได้อย่างดี 

ขณะเดียวกันในช่วงต้นปี 2565 รฟท. มีแผนเปิดประมูลโครงการติดตั้ง ATP อีก 2 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการติดตั้ง ATP บนหัวรถจักรเพิ่มเติมอีก 57 คัน วงเงินประมาณ 500 ล้านบาท และโครงการติดตั้ง ATP กับรถดีเซลรางที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน 117 คัน วงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันทั้ง 2 โครงการอยู่ในขั้นตอนการจัดทำราคากลาง และรายละเอียดการประมูล(ทีโออาร์) ทั้งนี้ในขั้นตอนดังกล่าวต้องนำทีโออาร์การประมูลติดตั้ง ATP บนหัวรถจักร 70 คันลอตแรกมาพิจารณาประกอบด้วย เพื่อให้กรอบเวลาการทยอยส่งมอบรถแต่ละเดือนที่จะให้ผู้รับจ้างนำไปติดตั้งระบบทั้ง 3 โครงการไม่ซ้ำซ้อนกัน เพราะหากจัดสรรไม่ดี จะทำให้รถไม่เพียงพอต่อการให้บริการได้ คาดว่าทั้ง 2 โครงการจะเริ่มติดตั้งระบบ ATP ได้ภายในปี 65 และใช้เวลาดำเนินการประมาณ 4 ปีจึงจะแล้วเสร็จทั้งหมด สาเหตุที่ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนานนั้น เพราะ รฟท. ต้องทยอยส่งมอบรถให้ผู้รับจ้าง ไม่สามารถส่งมอบรถให้ติดตั้งระบบพร้อมกันครั้งเดียวได้ทั้งหมด เพราะต้องใช้รถในการให้บริการประชาชนด้วย อย่างไรก็ตามระบบ ATP จะติดตั้งกับหัวรถจักร และรถดีเซลรางที่ให้บริการในปัจจุบัน โดยต้นปี 65 รฟท. จะได้รับหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าใหม่ที่ติดตั้งระบบ ATP มาแล้วรวม 50 คัน วงเงิน 6.5 พันล้านบาท ซึ่งจะนำมาใช้ทดแทนรถจักรดีเซลเก่า แบ่งเป็น เดือน ก.พ.65 จำนวน 20 คัน และเดือน มี.ค. 30 คัน

ทั้งนี้ความคืบหน้าการจัดซื้อรถดีเซลรางไฮบริด 184 คัน วงเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้เรื่องยังอยู่ในการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งต้องมีการชี้แจงถึงเหตุผล และความจำเป็นในการจัดซื้อ รวมถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับประเทศชาติ ตลอดจนวงเงินงบประมาณที่จะใช้ด้วย หากสภาพัฒน์ให้ความเห็นชอบจะเข้าสู่ขั้นตอนการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ จากนั้นจึงจะเริ่มจัดทำทีโออาร์ และเริ่มประมูลต่อไป