นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้ง กรอ.พาณิชย์ หรือคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ เพื่อร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ในการขับเคลื่อนให้ SMEs ก้าวไปข้างหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทยมี SMEs ประมาณ 3,100,000 ราย ซึ่งมากกว่า 90% ของธุรกิจทั้งประเทศเป็น SMEs และที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์มี 800,000 ราย ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานราก และมีความสำคัญกับทุกประเทศในโลก กลไกทางการค้าระดับโลก ก็ให้ความสำคัญกับ SMEs เช่น การประชุม APEC เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564 นิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพซึ่งที่ประชุมมีมติสำคัญเรื่องหนึ่งคือ SMEs ในการที่สมาชิกจะต้องให้การสนับสนุนการเสริมสร้างศักยภาพของ SMEs
โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ APECในปีหน้า ประเด็นหนึ่งที่ได้กำหนดไว้เป็นหัวข้อคือจะผลักดันเรื่องการส่งเสริมศักยภาพ Micro SMEs ที่เป็นประเด็นสำคัญ แสดงให้เห็น SMEs มีความสำคัญกับทุกประเทศในโลก อย่างไรก็ตามกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับ SMEs นโยบายและโครงการที่เป็นรูปธรรมเช่น 1.โครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้กับ SMEs หรือ Micro-SMEs
โดยได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก SME D Bank ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และ บสย. จัดดอกเบี้ยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเงื่อนไขพิเศษ เงื่อนไขที่ผ่อนปรน และวันที่ 24 สิงหาคม 2564 สถาบันการเงินทั้งหมดอนุมัติเงินกู้เงื่อนไขพิเศษให้กับร้านอาหารไปแล้วถึง 2,500 ล้านบาท รวม 2,608 ราย เพื่อต่อลมหายใจให้ SMEsในภาวะวิกฤติโควิด และโครงการจับคู่กู้เงิน สถาบันการเงิน กับ SMEsส่งออก อนุมัติเงินกู้ให้ SMEsส่งออกที่มีอยู่ประมาณ 30,000 รายทั่วประเทศโดยอนุมัติไปแล้ว 500 ล้านบาทและทำต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังได้สั่งการเป็นนโยบายว่าทีมเซลล์แมนจังหวัด ที่มีพาณิชย์จังหวัดเป็นผู้ประสานงานต้องบรรจุ SMEs หรือ Micro-SMEsในรูปหอการค้าจังหวัด YECหรือ Biz Club เป็นกรรมการทีมเซลล์แมนจังหวัดจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนการตลาดให้สามารถกระจายพื้นที่โอกาสทางการตลาดได้ต่อ สำหรับทีมเซลล์แมนประเทศที่ทูตพาณิชย์เป็นหัวเรือใหญ่ให้ช่วยหาตลาดให้กับ SMEsไทยที่มีศักยภาพในตลาดต่างๆและตลาดใหม่ที่เราสามารถแทรก SMEs เข้าไปได้
“กระทรวงพาณิชย์จับมือกับแพลตฟอร์มใหญ่ๆหรือบริษัทที่มีเทคโนโลยีทำโครงการร่วมกันให้ความรู้กับนำเทคโนโลยีมาใช้ ส่งเสริมการตลาดการผลิตต่อไป โดยเฉพาะ 5G ที่มีความสำคัญจึงเป็นที่มาของการจับมือระหว่างสถาบันการอบรมของกระทรวงพาณิชย์กับหัวเว่ยมีผู้เข้ารับการอบรมนับ 1,000 ราย และกระทรวงพาณิชย์มีหลักสูตรกว่า 70 หลักสูตร ทั้งให้ความรู้ในเรื่องพื้นฐาน การค้าระหว่างประเทศ FTA การสร้างช่องทางการตลาด ให้ผู้ส่งออกและเครือข่ายและการอบรมการค้าหรือเศรษฐกิจกระแสใหม่ในยุค New Normal ใช้การค้าออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมาเกี่ยวข้องอบรมให้ความรู้กับผู้สนใจไปแล้ว 66,700 รายในช่วง 2 ปี”
นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมีการสร้างแม่ทัพรุ่นใหม่ทางการค้าและการส่งออกให้กับประเทศ อย่างโครงการปั้น Gen Z เป็น CEO ร่วมมือกับ 93 สถาบันการศึกษาทั่วทั้งประเทศตอนนี้ มีสมัครเข้ามาถึง 16,500 คนและตนมั่นใจว่าภายในสิ้นปีเราจะอบรมให้ได้ครบทั้งหมดที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศซึ่งจะกลายเป็นแม่ทัพการค้าทั้งในประเทศและบุกตลาดต่างประเทศต่อไปในอนาคต