นายรังสิน กฤตลักษณ์ กรรมการบริหารและผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยในงานสัมมนา “ทิศทางพลังงานไทยสู่เป้าหมายการลด CO2” ว่า ในฐานะที่บริษัทดำเนินการเกี่ยวกับระบบขนส่งมวลชนราว 21 ปี โดยมีจุดเริ่มต้นจากการดำเนินการระบบรถไฟฟ้าระยะทางรวม 24 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 23 สถานี ปัจจุบันมีระบบรถไฟฟ้ารวมทั้งหมด 70 กิโลเมตร (กม.) จำนวน 62 สถานี เบื้องต้นในปีที่ 21 บริษัทได้ดำเนินการขนถ่ายผู้โดยสารบนระบบรถไฟฟ้า จำนวน 3,600 ล้านเที่ยว หากนำผู้โดยสารจำนวน 3,600 ล้านเที่ยว เดินทางด้วยพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ถือเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยพลังงานราว 1 ล้านตัน ขณะเดียวกันในปี 2565 บริษัทจะมีระบบขนส่งมวลชนทางรางเพิ่มขึ้นรวมเป็น 135 กิโลเมตร (กม.)จำนวน 116 สถานี เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง หากมีการเปิดให้บริการทั้ง 2 เส้นทาง คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการราว 2-3 ล้านคนต่อวัน จากเดิมที่คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 800,000 คน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19
“ที่ผ่านมาเรามีส่วนช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นระยะเวลานานและยังยืนยันเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อไป จากข้อมูลพบว่าระบบขนส่งมีการใช้พลังงานมากเป็นอันดับ 2 รองจากการผลิตพลังงาน ซึ่งเราคิดว่ามีระบบขนส่งอีกมากที่สามารถเปลี่ยนมาใช้ระบบพลังงานที่ลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ส่วนพลังงานต้นทางจะเป็นอย่างไรคงขึ้นอยู่กับแนวทางของภาครัฐและผู้ผลิตที่เป็นผู้ดำเนินการ”
นายรังสิน กล่าวต่อว่า ส่วนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในช่วง1-3 ปีข้างหน้า คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรีและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ขณะเดียวกันหากมีความเป็นไปได้บริษัทมีแผนที่จะขยายธุรกิจดำเนินการในส่วนของระบบขนส่งอื่นๆที่สามารถใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นและลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยปัจจุบันพบว่ามีการใช้ระบบขนส่งทางรางเพื่อใช้ขนส่งสินค้าเพียง 2-3% ซึ่งต่ำมาก หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วมีการใช้ระบบขนส่งทางรางเพื่อขนส่งสินค้าราว 20-30% ถือเป็นการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกินความจำเป็น หากสามารถดำเนินการได้จะช่วยลดต้นทุนของโลจิสติกส์การขนส่งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้
“บริษัทยังคงมีเป้าหมายการในปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์เพียงแต่ว่าจะมีการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการใช้รถไฟฟ้า เราถือเป็นผู้บริโภคโดยใน 1 ปี บริษัทจ่ายค่าไฟราว 1,500 ล้านบาท หากมีการขยายระยะทางระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 135 กิโลเมตร (กม.) จะทำให้เกิดการใช้พลังงานมากขึ้น ซึ่งเราอยากเห็นพลังงานต้นทางเป็นพลังงานที่สะอาด เพราะถือว่าเรามีส่วนช่วยสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และขยายธุรกิจอื่นๆที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนฯลดน้อยลงให้มากที่สุด”
นายรังสิน กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาใน 10 ปีแรก บริษัทอยู่ในช่วงการขยายตัวของระบบรถไฟฟ้าที่สังคมมองว่าเป็นเรื่องใหม่ ทำให้บริษัทต้องสร้างเพื่อทำความเข้าใจกับสังคมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในเมือง รวมทั้งการขยายตัวของระบบรถไฟฟ้าพบว่ามีที่พักอาศัยเกิดขึ้นในบริเวณแนวเส้นทางรถไฟฟ้า แต่ปัจจุบันพบว่าสิ่งแวดล้อมของธุรกิจและการใช้ชีวิตที่เกิดขึ้นเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องรับมืออย่างรวดเร็ว ขณะนี้บีทีเอสมีบริษัทในเครือกว่า 40 บริษัท ซึ่งต้องจัดรูปแบบธุรกิจใหม่แบ่งเป็น 3 ประเภท 1.ธุรกิจ move เป็นธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายผู้โดยสารหรือสินค้า ซึ่งต้องมีระบบราง ขณะเดียวกันบริษัททมีความสนใจในการขยายธุรกิจทางน้ำ โดยเข้าไปร่วมมือกับบริษัทเรือด่วนเจ้าพระยาในโครงการเรือไฟฟ้า รวมทั้งธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจด้านการบินที่บริษัทร่วมมือในโครงการเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้พลังงานค่อนข้างมาก โดยบริษัทเชื่อว่าธุรกิจนี้มีโอกาสเปลี่ยนแปลงลดการปล่อยพลังงานคาร์บอนไดออกไซด์ 2.ธุรกิจMix เป็นธุรกิจที่มุ่งเน้นกลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเป็นธุรกิจที่มองโอกาสของผู้บริโภคในเรื่องต่างๆ เช่น โลจิสติกส์ ไลฟสไตล์ แพลตฟอร์ม อิเล็กทรอนิกส์มันนี่ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ผสมผสานทุกๆเรื่องเข้าด้วยกันเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า 3.ธุรกิจ Match เป็นธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจในกลุ่มของบริษัททั้งหมด โดยสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ขึ้นมา หากเป็นโครงข่ายธุรกิจที่มีประโยชน์สามารถนำธุรกิจดังกล่าวเข้าไปอยู่ในกลุ่มธุรกิจ Move หรือธุรกิจ MiX ได้
“เรามองว่าธุรกิจทั้ง 3 รูปแบบคือธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ภายใต้ทิศทางการดำเนินงานที่สอดคล้องกันและไปในทิศทางเดียวกัน โดยบริษัทจะมีโครงข่ายที่รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 1. การไม่มีพรมแดนและไม่มีขอบเขตในการดำเนินงานสิ่งใดที่ทีมงานเล็งเห็นว่ามีประโยชน์ บริษัทจะนำมาใช้ (Borderless ) 2.บริษัทจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Transform) จากสิ่งต่างๆที่บริษัทมีอยู่ 3.การทำให้เกิดประโยชน์สิ่งต่างๆ (Solution)
ที่ผ่านมาบริษัทมีผลงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าที่มีการขนถ่ายผู้โดยสาร จำนวน 3,600 ล้านเที่ยวภายในระยะเวลากว่า 20 ปีทีผ่านมา ในอดีตอาจมองว่ารถไฟฟ้าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดและต้องปรับตัว แต่ปัจจุบันถือเป็นเรื่องปกติในการใช้ชีวิต ซึ่งบีทีเอสถือเป็นบริษัทแห่งแรกและแห่งเดียวที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งมุ่งเน้นการขยายธุรกิจการขนส่งที่ใช้พลังงานเป็นศูนย์และมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในระดับโลกบีทีเอสได้เข้าไปอยู่ในอันดับ DJSI ทั้งหมด 3 ปี ได้แก่ ปี 2018-2019 และในปี 2020 บริษัทได้ติดอันดับ 1 ของ Global และได้ 100 คะแนนเต็ม ด้วยความร่วมมือของบริษัทในเครือบีทีเอส ทำให้ได้รับรางวัลระดับโลกมาตลอด ถือเป็นเกียรติกับบริษัทและประเทศไทยที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมทั้งที่ผ่านมาบริษัทได้ออกกรีนบอนด์ทั้งหมด 2 ครั้งในปี 2019-2021 รวม 21,600 ล้านบาท ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นรางวัลที่มุ่งเน้นด้านสิ่งแวดล้อมและผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้ว