กรมชลฯ เกาะติดฝนตกหนัก สั่งคุมเข้มจัดการน้ำ 15 เขื่อนใหญ่น้ำเกิน 51%

29 ส.ค. 2564 | 08:25 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2564 | 15:41 น.

กรมชลประทานเกาะติดสถานการณ์น้ำ สั่งติดตามเฝ้าระวัง ไม่ให้ซ้ำเติม โควิด-19 พร้อมเร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม เผยขณะนี้มีอ่างฯ ขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก 15 แห่ง ขนาดกลาง 41 แห่ง คุมเข้มการบริหารจัดการน้ำตาม Rule Curve เพื่อลดผลกระทบ

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร  วงษ์สุวรรณ  รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และให้ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน 10 มาตรการของรัฐบาล เพื่อลดผลกระทบไม่ให้ไปซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้กรมชลประทานได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

 

ทั้งนี้ จากการติดตามสภาพภูมิอากาศของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) พบว่าในเดือนกันยายน 2564 นี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นเกือบทั่วไปเฉลี่ยร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ โดยล่าสุดอิทธิพลของร่องมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกําลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำ ปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ทำให้ประเทศไทยเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานที่ 9  สำนักเครื่องจักรกล และโครงการชลประทานปราจีนบุรี ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งของแม่น้ำปราจีนบุรี โดยให้จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปประจำในพื้นที่เสี่ยง ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำที่อาจจะล้นตลิ่ง

 

  กรมชลฯ เกาะติดฝนตกหนัก สั่งคุมเข้มจัดการน้ำ 15 เขื่อนใหญ่น้ำเกิน 51%

 

นอกจากนี้ให้เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงสามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งกําจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และมอบเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด  ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยน้ำท่วมก็ให้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน  และให้รายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานให้ผู้บริหาร ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบทันที

 

สำหรับสถานการณ์น้ำ ในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่มีน้ำไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกในช่วงนี้  ทั้งนี้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 3 กันยายน 2564 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง 

 

โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 447 แห่ง มีจำนวน 39,035 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 51% ของปริมาณการเก็บกัก  เป็นปริมาณน้ำที่ใช้การได้ 15,105 ล้าน ลบ.ม. หรือ 29% สามารถรับน้ำได้อีก 37,032 ล้าน ลบ.ม.

 

กรมชลฯ เกาะติดฝนตกหนัก สั่งคุมเข้มจัดการน้ำ 15 เขื่อนใหญ่น้ำเกิน 51%

 

 อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กรมชลประทานได้สั่งการให้เฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำโดยเกณฑ์กักเก็บน้ำของอ่าง (Rule Curve) อย่างใกล้ชิด พร้อมให้มีการติดตามสถานการณ์และคาดการณ์น้ำในอ่างโดยใช้ Dynamic Operation Curve (DOC)

 

กรมชลฯ เกาะติดฝนตกหนัก สั่งคุมเข้มจัดการน้ำ 15 เขื่อนใหญ่น้ำเกิน 51%

 

โดยเฉพาะอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 51% ของปริมาณการเก็บกัก ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 15 แห่ง  ได้แก่ อ่างฯจุฬาภรณ์ 56%  อ่างฯลำตะคอง 61%  อ่างฯมูลบน 63%  อ่างฯลำแซะ 56% อ่างฯลำนางรอง 56% อ่างฯสิรินธร 63%  อ่างฯศรีนครินทร์ 69%  อ่างฯวชิราลงกรณ 69%  อ่างฯขุนด่านปราการชล 67%  อ่างฯหนองปลาไหล 68%  อ่างฯประแสร์ 71%  อ่างฯนฤบดินทรจินดา 63%  อ่างฯแก่งกระจาน 61%  อ่างฯปราณบุรี 53% และอ่างฯรัชชประภา 65%   และอ่างฯขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของปริมาณการเก็บกักซึ่งขณะนี้มีจำนวน 41 แห่ง   โดยการระบายน้ำจะไม่กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของอ่างฯ ทุกแห่ง

 

สำหรับพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังในขณะนี้ กรมชลประทานได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ที่ อ.แกลง จ.ระยอง ได้เปิดประตูระบายน้ำ(ปตร.)คลองโพล้ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ตลาดเจริญสุข อ.เมืองจันทบุรี ได้เปิด ปตร.คลองภักดีรำไพ ในแม่น้ำจันทบุรี เพื่อเร่งให้คลองน้ำใสระบายลงแม่น้ำจันทบุรีได้มากขึ้น เป็นต้น  คาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาซ้ำเติมสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติอย่างแน่นอน