ส่องแผนยักษ์ใหญ่ “ไทยยูเนี่ยน” เคลื่อนทัพธุรกิจฝ่าด่านโควิดปี 2

03 ก.ย. 2564 | 05:49 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ก.ย. 2564 | 13:19 น.

ยุคโควิดตั้งแต่ปีที่ผ่านมาจนถึง ณ ปัจจุบันมีผลให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) ต้องสำลักพิษปิดตัวแบบเงียบ ๆ ไปเป็นจำนวนมาก แต่สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายขุมกำลังทั้งในและต่างประเทศยังฝ่าคลื่นมรสุมนี้มาได้อย่างแข็งแกร่ง

 

1 ในนั้นคือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เบอร์ 1 ทูน่ากระป๋องของไทยและของโลก ที่ปัจจุบัน มี 3 กลุ่มธุรกิจหลักได้แก่ ธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง, ธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็ง แช่เย็น และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเลี้ยง ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า และสินค้าอื่น ๆ

 

 นายธีรพงศ์ จันศิริ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เผยในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รู้สึกพอใจมากกับผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2/2564 ที่มียอดขาย 35,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% และมีกำไรสุทธิ 2,343 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 19% ซึ่งถือเป็นยอดขาย และกำไรต่อไตรมาสที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท

 

“ตัวหลัก ๆ เป็นผลจากธุรกิจอาหารแช่แข็งที่ฟื้นตัวกลับมา จากต่างประเทศทั้งอเมริกา และยุโรปกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติหลังโควิดคลี่คลาย ทำให้ธุรกิจนี้ในไตรมาส 2 โตกว่า 28% ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงก็เติบโตกว่า 12% ซึ่งอาหารสัตว์เลี้ยงโตตัวเลขสองหลักทุกไตรมาสอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว ส่วนอาหารทะเลกระป๋องในไตรมาส 2 ยอดขายลดลงไป 6.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้วที่เป็นช่วงเกิดโควิดใหม่ ๆ คนแห่ซื้อตุนทูน่ากระป๋องเป็นจำนวนมาก แต่ภาพรวมครึ่งปีในส่วนของอาหารทะเลกระป๋องในไตรมาสที่ 2 ก็มียอดขายที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก”

 

ส่องแผนยักษ์ใหญ่ “ไทยยูเนี่ยน” เคลื่อนทัพธุรกิจฝ่าด่านโควิดปี 2

 

 

ลุ้นไตรมาส 3-4 โตต่อเนื่อง

สำหรับในไตรมาสที่ 3-4 ของปีนี้ นายธีรพงศ์ ระบุว่า หากสามารถทำได้ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วก็จะดีมาก เนื่องจากปีที่แล้วตัวเลขยอดขายสูง จากเป็นช่วงสถานการณ์โควิดผู้บริโภคซื้อเครื่องกระป๋องตุน อย่างไรก็ดีภาพรวมทั้งปีนี้มั่นใจว่าบริษัทจะสามารถทำยอดขายขยายตัวจากปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 5% (ปี 2563 มียอดขาย (132,402 ล้านบาท) และกำไรก็น่าจะโตกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมากและน่าจะโตในระดับสองหลัก

 

บาทอ่อน-คุมโควิดได้ปัจจัยบวก

นายธีรพงศ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยบวกในไตรมาสที่ 3-4 ส่วนหนึ่งคือ เงินบาทที่อ่อนค่าระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ ส่งผลดีต่อการแข่งขันส่งออก ขณะที่ความต้องการสินค้าของต่างประเทศก็ยังสูง รวมถึงการจัดการเรื่องโรคระบาดโควิด-19 ของบริษัท และภาพรวมของทุกโรงงานในไทยก็ยังบริหารจัดการได้ดี โดยในส่วนของไทยยูเนี่ยนในทุกโรงงาน ทั้งที่ตั้งอยู่ที่ จ.สมุทรสาคร และที่ จ.สงขลาก็ยังเปิดดำเนินการได้ทุกโรง ทำให้ดีมานต์สินค้าไหลเข้ามาที่ประเทศไทยเพิ่มขึ้น

 

ส่องแผนยักษ์ใหญ่ “ไทยยูเนี่ยน” เคลื่อนทัพธุรกิจฝ่าด่านโควิดปี 2

 

 “ไทยยูเนี่ยนฯในไทยมีพนักงานเกือบ 3 หมื่นคน และยังขาดคนงานอีกหลายพันคน จากแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ เรื่องโควิดเราก็มีมาตรการที่เป็นปกติเดิมอยู่แล้วก่อนที่จะมีโควิด เช่น การใส่หน้ากากอนามัย การใช้ถุงมือยาง มีการใช้แอลกอฮอล์ในการล้างมือ และทำความสะอาดเครื่องมืออุปกรณ์ การล้างสถานประกอบการหลังเสร็จงาน พอมีโควิดก็เพิ่มการตรวจวัดอุณหภูมิ มี Social Distancing มีมาตรการ Bubble & Seal จากโรงงานถึงที่พักไม่ให้คนงานปะปนกับคนทั่วไป และล่าสุดยังมีมาตรการ Factory Sandbox มีการจัดทำเตียงสนามในโรงงานกว่า 2,000 เตียงไว้รองรับพนักงานหากมีการติดเชื้อ”

 

ส่องแผนยักษ์ใหญ่ “ไทยยูเนี่ยน” เคลื่อนทัพธุรกิจฝ่าด่านโควิดปี 2

 

เร่งฉีดวัคซีน 3 หมื่นพนักงาน

 นอกจากนี้ได้มีจัดหาวัคซีนทางเลือก (วัคซีนเสียเงินเอง) มาฉีดให้พนักงานในเบื้องต้นจำนวน 2 หมื่นโดสเพื่อฉีดให้พนักงาน 1 หมื่นคน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการทยอยฉีดให้กับพนักงานทั้งที่สงขลา และสมุทรสาคร ซึ่งบางโรงยังฉีดได้ระดับ 10-20% บางโรงได้เกิน 50% เนื่องจากวัคซีนยังได้ไม่ครบ ขณะที่อีกด้านหนึ่งอยู่ระหว่างรอวัคซีนจากระบบประกันสังคม และวัคซีนจากที่ได้เข้าร่วมมาตรการ Factory Sandbox ของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้พนักงานเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น และเร็วขึ้น

 

ลงทุนใหม่เน้นสตาร์ทอัพ

 ขณะที่ด้านการลงทุนในธุรกิจของบริษัทฯในช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ได้เข้าร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีอนาคตหลายบริษัทเพื่อต่อยอดธุรกิจ (กราฟิกประกอบ) การลงทุนสร้างโรงงานอาหารสำเร็จรูป และสร้างโรงงานอาหารโปรตีนไฮโดรไลเซต ที่ จ.สมุทรสาคร รวมถึงการสร้างโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มอีก 1 โรง  ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2566 การลงทุนสร้างโรงงานอาหารกุ้งในอินโดนีเซียที่คาดจะแล้วเสร็จภายในปีนี้

 

 “ภาพรวมปีนี้บริษัทคาดจะใช้งบลงทุนราว 5,000 ล้านบาท จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 6,500 ล้านบาท เป็นผลกระทบจากโควิดทำให้การก่อสร้างดีเลย์ออกไป กลายเป็นงบข้ามปี ส่วนในปีหน้าการลงทุนคาดจะใช้งบระดับ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยที่ยังไม่มี M&A (การซื้อและควบรวมกิจการ) ใหม่ ๆ แต่จะเน้นการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นหลัก เพื่อสร้างกำลังผลิตใหม่ ขณะที่ล่าสุดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มจากศูนย์นวัตกรรมของไทยยูเนี่ยนสามารถทำรายได้ 2-3% ของรายได้รวม ซึ่งเราตั้งเป้าเพิ่มเป็น 10% ในปี 2568” ซีอีโอ ไทยยูเนี่ยนกล่าว 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,710 วันที่ 2 - 4 กันยายน พ.ศ. 2564