เมื่อ 25 กรกฎาคม 2564 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ครบ 2 ปี ต่อรัฐสภาไปนั้นทำหน้าที่ตามเงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลและหนึ่งในนั้นคือนโยบายช่วยเกษตรกรใน “โครงการประกันรายได้เกษตรกร”
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามผลสรุปเชิงนโยบายของนายจุรินทร์และรัฐบาลเพื่อเดินหน้าปีที่3ของโครงการตามนโยบาย ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายสินค้าเกษตรพืช 4 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ ยางพารา ได้เห็นชอบหลักการโครงการประกันรายได้สินค้าเกษตรและมาตรการคู่ขนาน ปี 2564/65 ในเบื้องต้นแล้วอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว
ยังเหลือในส่วนของ “ปาล์มน้ำมัน” อยู่ระหว่างการนำเสนอ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปเช่นกัน สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันรายได้และมาตรการคู่ขนาน ปี 2563/64 หรือสรุปของปี2 มีเกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการทั้ง 5 สินค้า รวม 7.87 ล้านครัวเรือน วงเงินประกันรายได้5 สินค้า รวม 75,166.70 ล้านบาท โดยมีการโอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว 6.964 ล้านครัวเรือน รวมเป็นเงิน 60,041.95 ล้านบาท คิดเป็น 79.88%
นางมัลลิกา ระบุว่า การประกันรายได้ข้าว กำหนดราคาประกันรายได้เหมือนกันทุกปี คือ ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 14 ตัน) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 16 ตัน) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 25 ตัน) ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 30 ตัน) ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท/ตัน (ปริมาณครัวเรือนละ 16 ตัน) โดยมีเกษตรกรจำนวน 4.686 ล้านครัวเรือนเข้าร่วมโครงการ วงเงิน 49,509.81 ล้านบาท
ประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิงครบแล้วทั้ง 30 งวด โดยได้โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 4.688 ล้านครัวเรือน จำนวน 48,177.32 ล้านบาท เป็น 97.31% ซึ่งมีการจ่ายชดเชยสูงสุดให้เกษตรกร สำหรับข้าวหอมมะลิ 42,830.62 บาท/ครัวเรือน ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 41,680.96 บาท/ครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้า 36,670.80 บาท/ครัวเรือน
ข้าวปทุมธานี 26,674.00 บาท/ครัวเรือน และข้าวเหนียว 33,349.44 บาท/ครัวเรือน และสำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 หรือปี 3 มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 64 เห็นชอบโครงการโดยให้คงหลักการเดิม วงเงิน 89,306.39 ล้านบาท ก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
มันสำปะหลัง กำหนดราคาประกัน 2.50 บาท/กก. ไม่เกิน 100 ตัน/ครัวเรือน มีการจ่ายทุกวันที่ 1 ของเดือน โดยจ่ายไปแล้ว 10 งวด จากจำนวน 12 งวด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 0.524 ล้านครัวเรือน วงเงิน 9,570.97 ล้านบาท โดยโอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 0.484 ล้านครัวเรือน จำนวน 3,084.13 ล้านบาท (32.22%) ซึ่งมีการจ่ายชดเชยสูงสุดให้เกษตรกร 28,000 บาท/ครัวเรือน สำหรับโครงการประกันรายได้ ปี 3 มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการทันสำปะหลัง (นบมส.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 64 ให้คงหลักการเดิม วงเงิน 6,811.28 ล้านบาท ก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
"ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์" กำหนดราคาประกัน 8.50 บาท/กก. ไม่เกิน 30 ไร่/ครัวเรือน มีการจ่ายเงินชดเชยทุกวันที่ 20 ของเดือน โดยจ่ายไปแล้ว 10 งวด จากจำนวน 12 งวด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 0.452 ล้านครัวเรือน วงเงิน 1,867.92 ล้านบาท โดยโอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 0.338 ล้านครัวเรือน จำนวน 1,233.51 ล้านบาท (66.04%) ซึ่งมีการจ่ายชดเชยสูงสุดให้เกษตรกร 9,625.50 บาท/ครัวเรือน สำหรับโครงการประกันรายได้ ปี 3 มติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 ให้คงหลักการเดิม วงเงิน 1,863.51 ล้านบาท ก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
"ปาล์มน้ำมัน" กำหนดราคาประกัน 4.00 บาท/กก. ไม่เกิน 25 ไร่/ครัวเรือน อายุ 3 ปีขึ้นไป มีการจ่ายเงินชดเชยทุกวันที่ 15 ของเดือน โดยประกาศราคาอ้างอิงแล้วจำนวน 8 งวด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 0.370 ล้านครัวเรือน วงเงิน 4,500.00 ล้านบาท แต่ทั้งนี้ ราคาตลาดอ้างอิงงวดที่ 1 – 8 สูงกว่าราคาเป้าหมาย กก.ละ 4 บาทจึงไม่มีการจ่ายชดเชย
สำหรับโครงการประกันรายได้ ปี 3 มติคณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 64 ให้คงหลักการเดิม วงเงิน 7,660 ล้าบาทโดยอยู่ระหว่าง นำเสนอคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)ให้ความเห็นชอบก่อนนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
ในส่วน "ยางพารา" ซึ่งฝ่ายเลขาคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นั้น กำหนดราคาประกัน ไม่เกิน 25 ไร่ อายุ 7 ปีขึ้นไป สำหรับยางดิบ (ปริมาณ 20 กก./ไร่/เดือน) 60 บาท/กก. น้ำยางสด (DRC 100%) (ปริมาณ 20 กก./ไร่/เดือน) 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) (ปริมาณ 40 กก./ไร่/เดือน) 23 บาท/กก. มีการจ่ายชดเชยทุกเดือน ครบแล้วทั้ง 6 งวด มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.83 ล้านราย วงเงิน 10,042.82 ล้านบาท
โดยโอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 1.454 ล้านราย จำนวน 7,546.994 ล้านบาท (77.66%) ซึ่งมีการจ่ายชดเชยสูงสุดให้เกษตรกรยางแผ่นดิบ 3,610.00 บาท/ราย น้ำยางสด (DRC 100%) 14,770.00 บาท/ราย และยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 13,400.00 บาท/ราย สำหรับโครงการประกันรายได้ ปี 3 มติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 64 เห็นชอบในหลักการ เดิม วงเงิน 10,065.68 ล้านบาท ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวด้วยว่า นโยบายรัฐบาลด้านการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลักของประเทศนั้นเพื่อให้หลักประกันเกษตรกรและเห็นผลได้ชัดในภาวะวิกฤติหากพืชเศรษฐกิจราคาตกต่ำตามกลไกตลาดเกษตรกรจะมีรายได้เป็นส่วนต่างอีกกระเป๋าหนึ่งขณะเดียวกันก็ขายตามราคาตลาดอีกกระเป๋าหนึ่ง
ซึ่งกระเป๋าที่เป็นเงินส่วนต่างนั้นจ่ายตรงเข้าบัญชี ธ.ก.ส. ของเกษตรกรไม่มีรั่วไหลไม่เกิดการทุจริตทำให้นโยบายนี้ได้รับการยอมรับและประเมินแล้วเกษตรกรมีความพอใจ ขณะเดียวกันเมื่อเกิดภาวะวิกตโควิด-19 รายได้ที่อยู่ในกระเป๋าเกษตรกรกลายเป็นเงินทุนหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากช่วยประเทศชาติไว้อย่างทันท่วงทีด้วย แต่นอกเหนือจากโครงการนี้รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ยกระดับราคาโดยใช้มาตรการเสริมด้วย
สำหรับมาตรการเสริมหรือมาตรการคู่ขนาน สินค้าข้าว ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยเกษตรกรเก็บยุ้งฉาง ได้รับค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท ระยะเวลา 1-6 เดือน ซึ่งเป้าหมายในปี 62/63 ปริมาณ 1.5 ล้านตัน ปี 63/64 ปริมาณ 1.82 ล้านตัน และปี 64/65 ปริมาณ 2.0 ล้านตัน 2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ซึ่งสหกรณ์ที่รวบรวมข้าว จะได้รับการชดเชยดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 6 เดือน เป้าหมายปีละ 1.5 ล้านตัน
3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก โดยการชดเชยดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 6 เดือน เป้าหมายปีละ 4 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยสนับสนุน 1,000 บาท/ไร่ ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ โดยในปี 2563/64 มีงบประมาณวงเงินรวม 62,812.66 ล้านบาท
สินค้า “มันสำปะหลัง” ได้แก่ 1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โดยชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์ 3% ระยะเวลา 12 เดือน เป้าหมายปี 62/63 และปี 63/64 อยู่ที่ 0.6 ล้านตัน และปี 64/65 ปรับเป้าหมายลดลงอยู่ที่ 0.2 ล้านตัน 2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง โดยชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ 3% ระยะเวลา 6 เดือนโดยปี 63/64 และปี 64/65 เป้าหมายปีละ 6 ล้านตันหัวมันสด นอกจากนี้มีการสนับสนุนเครื่องสับมันสำปะหลัง ปี 63/64 และปี 64/65 เป้าหมายปีละ 650 เครื่อง โดยในปี 2563/64 มีวงเงินงบประมาณรวม 280 ล้านบาท
สินค้า “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ได้แก่ 1) สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตร โดยชดเชยดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 6 เดือน เป้าหมายปี 62/63 และปี 63/64 อยู่ที่ 0.17 ล้านตัน และปี 64/65 ปรับเป้าหมายลดลงอยู่ที่ 0.15 ล้านตัน 2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพดในการเก็บสต๊อก โดยชดเชยดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 2-4 เดือน โดยในปี 2563/64 มีวงเงินงบประมาณรวม 60 ล้านบาท
“สินค้าปาล์มน้ำมัน” ได้แก่ 1) ผลักดันส่งออก ปี 63/64 เป้าหมาย 300,000 ตัน ส่งออก ระหว่าง ต.ค. 63 - ก.ย. 64 (อยู่ระหว่างเสนอ กนป. ขยายถึง ธ.ค. 64) ชดเชย 2 บาท/กก. โดยกำหนดเงื่อนไขการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ดังนี้ ปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์ม ต้องมากกว่า 300,000 ตัน และราคา CPO ในประเทศต้องสูงกว่าราคา CPO ตลาดโลก
สำหรับปี 64/65 คงหลักการเดิม เป้าหมาย 150,000 ตัน ส่งออกระหว่าง ม.ค.-ก.ย. 65 วงเงิน 300 ล้านบาท (อยู่ระหว่างเสนอ กนป.) 2) ติดตั้งมิเตอร์น้ำมันปาล์ม (ถังเก็บขนาด 1,000 ตันขึ้นไป) จำนวนไม่น้อยกว่า 469 ถัง กำหนดแล้วเสร็จ ก.พ. 65 โดยในปี 2563/64 มีวงเงินงบประมาณรวม 600 ล้านบาท
“สินค้ายางพารา” ได้แก่ 1) สนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการยาง ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง ผู้ประกอบการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ โดนชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี วงเงินชดเชยรวมไม่เกิน 1,950 ล้านบาท วงเงินกู้ 65,000 ล้านบาท และ 2) สนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง จาก ธ.ก.ส. (วงเงินกู้รวม 10,000 ล้านบาท) โดยมีงบประมาณวงเงิน 11,950 ล้านบาท
รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับความไว้วางใจจากนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรต่อไปเป็นปีที่ 3
ทีมประกันรายได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าภายในเป็นฝ่ายเลขาในการดูแลพืชเกษตร4 ชนิดมีนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน รับผิดชอบ ส่วนกระทรวงเกษตรฝ่ายเลขาคือการยาง มีนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย รับผิดชอบ
อย่างไรก็ตามการจัดสรรงบประมาณนั้นมีการกำชับให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและสุจริตโปร่งใสสำหรับงบประมาณที่จัดสรรไว้หากช่วงใดที่ราคาพืชเกษตรตามกลไกตลาดสูงกว่าการประกันรายได้จะไม่มีการได้จ่ายส่วนต่าง ดังนั้นงบประมาณเหล่านั้นก็จะไม่ได้ใช้งบก็จะตกเป็นงบประมาณแผ่นดินต่อไป
แต่หากฤดูกาลใดในปีนั้นพืชผลซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักราคาตกต่ำกระทบกับเกษตรกรจำนวนมากก็ต้องคิดเงินส่วนต่างจ่ายตรงให้เกษตร คือใช้งบตามกลไกการประกันรายได้
“โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนและตั้งแต่นายจุรินทร์เข้ามาบริหารงานร่วมกับรัฐบาลนี้หลังการเลือกตั้งครั้งที่แล้วทำให้ราคาพืชผลเกษตรยกระดับสูงขึ้นแม้จะฝากภาวะวิกฤตหลายวิกฤติในรอบ 2 ปีก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่โครงการได้รับเสียงปรบมือจากเกษตรกรและหลายฝ่าย ดิฉันถือนายจุรินทร์เป็นผู้นำทางด้านการประกันรายได้ช่วยเกษตรกรร่วม 8 ล้านครัวเรือน และเมื่อลงพื้นที่ก็ได้รับการตอบรับจากเกษตรกรอย่างล้นหลาม ท้วมท้น " นางมัลลิกา กล่าวในตอนท้าย