TDRI เฉ่งรัฐอุ้มเกษตร ติดหนี้ ธ.ก.ส. 5 แสนล้าน อีกเหตุเพิ่มเพดานหนี้70%

28 ก.ย. 2564 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ย. 2564 | 23:16 น.

แฉ รัฐบาล ตกเป็น ลูกหนี้ “ธ.ก.ส.” ใช้เงินอุดหนุนภาคการเกษตร กว่า 5 แสนล้าน ทีดีอาร์ไอ หลอนผวาไทยซ้ำรอยวิกฤติเศรษฐกิจการคลัง ที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาแล้ว ชี้เป็นหนึ่งในต้นเหตุทำให้ต้องขยายเพดานกู้เงินเพิ่มเพดานหนี้70%

อัพเดทโครงการประกันรายได้เกษตรกร 5 พืชสินค้าเกษตร ประกอบด้วย ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน เป็นนโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ และเป็น 1 ในนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดได้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว แบบไม่เป็นทางการ

 

สถานะเวลานี้ในส่วนของข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผ่านคณะกรรมการบริหารพืชแต่ละชนิดแล้ว จ่อเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาให้ความเห็นชอบ ยังเหลือ “ปาล์มน้ำมัน” กำลังจะเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ในวันที่ 14 ตุลาคมนี้  (กราฟิกประกอบ)

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) พลิกแฟ้ม โครงการรัฐบาลที่ช่วยอุดหนุนเกษตรกรผ่านรัฐบาลสู่รัฐบาลที่มีความยาวนานมากที่สุดถึง ณ ปัจจุบัน คือ  โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก หรือ "จำนำยุ้งฉาง" ที่มีมาตั้งแต่ปี 2535 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ใช้งบประมาณไม่มาก แต่ช่วยชาวนาได้ในอดีตและช่วยได้บ้างในปัจจุบัน  ดีกว่าปล่อยให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาถูกในลักษณะขายขาดไปเลย

 

อันดับสองรองลงมา เป็นโครงการ/มาตรการช่วยเกษตรกร เรื่องค่าบริหารจัดการ และปรับปรุงคุณภาพข้าว รายละไม่เกิน 20 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 2 หมื่นบาท ซึ่งโครงการนี้  ตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปี 2557  ก็ยังไม่เลิก และมาจ่ายซ้อนกับ "โครงการประกันรายได้เกษตรกร" มา  8 ฤดูแล้ว ถัดมาลำดับที่ 3 โครงการประกันรายได้ เริ่มตั้งแต่พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับประชาชน ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และได้บรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างของราคาพืชผลให้กับเกษตรกร ในพืชเกษตร 5 ชนิด ซึ่งในปีที่ 1  เริ่มตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งปัจจุบัน ปี 2564

 

 

“ในความคิดเห็นส่วนตัวเห็นว่ารัฐบาลจ่ายมากเกินไป เพราะ 2 โครงการซ้อนกัน ซึ่งโครงการประกันรายได้ความจริงต้องคิดแค่ต้นทุน แต่รัฐบาลได้บวกกำไรให้ด้วย แล้วยังไปแจกเงินให้ฟรีอีก  ควรจะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า ระยะสั้นไม่มีเงิน งบกลางใช้หมดแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาและเป็นส่วนหนึ่งของที่มาที่รัฐบาลได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะของประเทศจาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี ซึ่งกระทรวงการคลัง โดยสำนักงบประมาณก็แจ้งแล้วว่าไม่มีเงิน และต้องปฏิบัติตาม มาตรา 27 และ 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561”

 

ประกันรายได้เกษตรกร 5 พืช

 

รศ.ดร.นิพนธ์  กล่าวอีกว่า ปัญหาที่จะตามมาในระยะยาวจากประกันรายได้จะเกิด 2 ปัญหาคือ 1.เกษตรกรไม่ปรับตัว ปลูกข้าวไม่ได้คุณภาพ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลผลิตเท่าใดนัก เพราะได้เงินอุดหนุน 2 ทาง  ทำให้ได้เปรียบกลุ่มอื่น ซึ่งเมื่อรวมโครงการประกันรายได้ข้าวและมาตรการคู่ขนานแล้วในปีที่ 3 นี้จะใช้วงเงินกว่า 1.5 แสนล้านบาท

 

ส่วนโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการจ่ายไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 2 หมื่นบาท กับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน 4.69 ล้านครัวเรือน จะใช้จ่ายเงินกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท รวมเบ็ดเสร็จกว่า 2.07 แสนล้านบาท

 

“แพงมาก งบประมาณขนาดนี้สามารถช่วยเหลือคนได้ทั้งประเทศ แล้วยิ่งในภาวะวิกฤติแบบนี้ไม่ควรจะใช้เงินมากขนาดนี้ เพราะไม่ได้เดือดร้อนที่สุด หากราคาข้าวต่ำก็มีประกันรายได้ค้ำอยู่แล้ว”

 

ปัญหาที่ 2  กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจ การคลังในระยาว เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ในหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว ตอนนี้รัฐบาลติดหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กว่า 5 แสนล้านบาท เฉพาะหนี้อุดหนุนภาคเกษตรที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยทุกปี นึกภาพแค่จ่ายดอกเบี้ยก็เกินงบประมาณแล้ว

 

 

“ปัญหาเวลานี้เกษตรกรก็หันมาปลูกแค่ 5 พืช ในโครงการประกันรายได้ เงินช่วยเหลือควรจะไม่ผูกติดกับการผลิต ถ้าจะผูกก็ต้องเป็นกรณีพิเศษ โดยใช้การคำนวณต้นทุนรายได้ขั้นต่ำของคนในประเทศ หากต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำ ถึงจะช่วยเช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ นี่ถือว่าถูกต้องแล้ว”

 

อย่างไรก็ดี หากในกรณีในในปีใดเกิดราคาผลผลิตตกต่ำมาก ส่งออกตลาดโลกแล้ว ราคายังผันผวน ค่อยนำมาตรการประกันราคามาใช้พืชนั้น เพราะเป็นการประกันราคาพืชที่ราคาตกต่ำ ควรจะคิดถ้าราคาตกต่ำกว่าราคาเฉลี่ยระดับรายได้ของเกษตรกรของสินค้าเกษตรนั้นๆ มีรายได้ต่ำกว่ารายได้ขั้นต่ำ ก็ช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่ช่วยเหลือส่วนต่างทั้งหมดควรให้บางส่วน จะไม่เรียกว่า “ประกันรายได้” จะหันกลับมาใช้คำว่า “ประกันราคาแทน” ในช่วงที่ราคาตกต่ำ ปีใดที่ราคาไม่ตกต่ำ ก็ไม่ต้องมีโครงการนี้

 

รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า ถ้าทำอย่างนี้ ทุกคนจะเท่าเทียมกัน แล้วเกษตรกรจะปรับตัว และทุกพืชจะต้องทำแบบนี้ ไม่ใช่เฉพาะ 5 พืช ต้องใช้หลักการเดียวกัน ไม่บิดเบือนแรงจูงใจในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และไม่ทำให้“ระบบประกันรายได้เกษตรกร” ไปทำลายแรงจูงใจในการปรับปรุงพัฒนา ทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพราะนี่คือต้นเหตุใหญ่ในขณะนี้

 

 

 

หน้า  9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3717 วันที่ 26-29 กันยายน 2564