นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจและการจ้างงานแห่งสาธารณรัฐฟินแลนด์ในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Memorandum of Understanding on Cooperation in Circular Economy)เพื่อผลักดันการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนดังกล่าว เกิดขึ้นจากเมื่อเดือนกันยายน 2562 รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ ได้ร่วมหารือกับรัฐบาลไทยเรื่องแนวปฏิบัติสำหรับความร่วมมือเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)และแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งไทยและฟินแลนด์ต่างเล็งเห็นความสำคัญของการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน
โดยเป็นกลไกสำคัญสำหรับแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมและเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือในระดับทวิภาคีด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ นโยบาย และกลยุทธ์ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน การดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในสาขาที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรม เคมี พลาสติกและผลิตภัณฑ์ชีวภาพ และการจัดการกิจการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันไทยได้นำโมเดล BCG (BCG Model) ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวมาประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อสร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในส่วนฟินแลนด์นั้นเป็นหนึ่งในประเทศผู้บุกเบิกด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของโลก ความร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่กระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและฟินแลนด์เท่านั้น แต่ยังเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการเพิ่มผลิตภาพและเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิต การขับเคลื่อนโมเดลประเทศไทย 4.0 ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย และเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนให้ไทยและฟินแลนด์ประสบความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ
นางสาวพะเยาว์ คำมุข รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า วันที่ 30 กันยายน 64 จะมีการจัดสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อเศรษฐกิจหมุนเวียน : การตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากภาคอุตสาหกรรม (Circular Economy Webinar EP.1: Industrial Emission Monitoring)โดยวิทยากรที่มีคุณวุฒิมาให้ความรู้ทั้งจากฝ่ายไทยและฟินแลนด์ ซึ่งฝ่ายไทยประกอบด้วยผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology)
และฝ่ายฟินแลนด์ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านการตรวจสอบมลพิษ โดยการสัมมนาดังกล่าวถือเป็นกิจกรรมแรกและก้าวแรกของการดำเนินการภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างสองประเทศในการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากนี้ ทั้งไทยและฟินแลนด์จะร่วมหารือถึงแนวทางและวิธีการรับมือกับความท้าทายในอนาคต เพื่อเร่งให้เกิดการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น