เปิดวิสัยทัศน์ “มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล” ซีอีโอป้ายแดง ปตท.สผ.เน้นพลังงานใหม่

01 ต.ค. 2564 | 02:55 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ต.ค. 2564 | 12:38 น.

เปิดวิสัยทัศน์มนตรี ลาวัลย์ชัยกุลซีอีโอคนใหม่ ปตท.สผ. ขับเคลื่อนองค์กรรับความท้าทายของธุรกิจพลังงานในอนาคตรับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจปิโตรเลียม สร้างการเติบโตระยะยาว

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ต่อจากนายพงศธร ทวีสิน  ซึ่งเกษียณอายุงานว่า จะยังคงเป้าหมายและต่อยอดการสร้างรากฐานการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ในระยะยาว ด้วยการให้ความสำคัญกับการสร้างธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลักให้มีความแข็งแกร่ง เร่งรัดการสำรวจปิโตรเลียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะแหล่งก๊าซธรรมชาติ และเร่งรัดพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมที่ค้นพบใหม่ เพื่อเพิ่มอัตราการผลิตปิโตรเลียม 
รวมทั้งจะผลักดันแผนงานในภูมิภาคตะวันออกกลางให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้  ขณะเดียวกัน จะมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อม และขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) 
และการลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) โดยนำเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และ การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage หรือ CCUS)  เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจต้นน้ำของพลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานไฮโดรเจน ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้เชิงพานิชย์ รวมทั้ง การลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านบริษัท เอไอ แอนด์  โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ

“เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต มองว่า บทบาทของ ปตท.สผ. จะต้องเป็น Cautious Diversified Player ที่ยังคงสร้างและรักษาความแข็งแกร่งของธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมไว้ตามเป้าหมายเดิม เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ขณะเดียวกัน เราพร้อมแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ ซึ่งในการดำเนินการทั้งสองส่วนจะควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และ   ธรรมาภิบาล (ESG) เพื่อให้ ปตท.สผ.เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน” 

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล
นายมนตรี กล่าวต่อว่า จะยังคงสานต่อนโยบายการสร้างให้ ปตท.สผ. เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) มาประยุกต์ใช้ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจบนฐานข้อมูล สามารถบริหารจัดการต้นทุน และสร้างวัฒนธรรมในองค์กรที่พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งนำไปสู่ความคล่องตัวขององค์กรและการเกิดประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาว

สำหรับนายมนตรีมีประสบการณ์การทำงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากว่า 30 ปี และร่วมงานกับ ปตท.สผ. มากกว่า 20 ปี โดยมีประสบการณ์ในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหลายประเทศ เช่น โอมาน อิหร่าน ออสเตรเลีย 
นอกจากนี้ นายมนตรีเป็นผู้บริหารที่มีบทบาทสำคัญในความสำเร็จทางธุรกิจของ ปตท.สผ. หลายด้าน เช่น การชนะการประมูลแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) การกำหนดกลยุทธ์ให้ ปตท.สผ. เน้นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทมีความชำนาญ (Coming Home Strategy) จนนำมาสู่การเข้าซื้อกิจการของเมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในประเทศมาเลเซีย โดยได้มีการค้นพบศักยภาพปิโตรเลียมในหลายแหล่งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มาเลเซียเป็นอีกหนึ่งฐานการลงทุนหลักของ ปตท.สผ. 
อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ ปตท.สผ. ขยายธุรกิจในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมาน ซึ่งเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนของบริษัทเช่นกัน