ตามที่กรมประมงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board ) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา และได้ประชุมหารือแนวทางการบริหารจัดการผลผลิตกุ้งและราคา ที่เป็นหลักการว่าเกษตรกรเลี้ยงกุ้งแล้วขายผลผลิตกุ้งให้กับห้องเย็นที่เข้าร่วมโครงการฯต้องไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และการบริหารสินค้ากุ้งที่จะนำเข้าในปริมาณที่เหมาะสมโดยไม่กระทบต่อราคากุ้งในประเทศ มีความคืบหน้าตามลำดับ
นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” วันนี้ ( 1 ต.ค.64) มีการประชุมเรื่อง ความคืบหน้าการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำและการขาดแคลนวัตถุดิบป้อนโรงงาน โดย Shrimp Board ในที่ประชุมมีการสรุปต้นทุนค่าเฉลี่ยแต่ละขนาด (อินโฟกราฟฟิก) เรียบร้อยแล้ว
“ในวันที่ 7 ตุลาคม 2564 กรมประมง จะมีประกาศราคาขั้นต่ำและชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอน การดำเนินการ ซื้อ-ขาย ถึงหลักเกณฑ์เงื่อนไขทางกายภาพและการตรวจสารตกค้างฯลฯ และจะมีการนำร่องซื้อ-ขาย ล่วงหน้าประมาณ 3 วันบางส่วน ก่อนจะดำเนินการซื้อ-ขายจริง ตามวัน เวลาข้างต้น ด้วย มติที่ประชุมเบื้องต้นว่า จะมีการเริ่มดำเนินการซื้อ-ขายกุ้ง ระหว่างห้องเย็นกับเกษตรกร ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 นี้”
นายครรชิต กล่าวว่า สมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาอุปสรรค ของการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย ในประเด็นการขอรับสินเชื่อเงินทุนในการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร จากสถาบันการเงิน ที่มีข้อกำหนดเงื่อนไขการพิจารณาการสนับสนุนสินเชื่อของสถาบันการเงินว่าเป็นสินเชื่อที่พึงเฝ้าระวัง ไม่ใช่ประเภทสินเชื่อที่ควรให้การสนับสนุนฯ
จากมติ คณะรัฐมนตรี วันที่ 30 กันยายน 2546 ที่ระบุต้องมีมาตรฐาน GAP และ COC ของกรมประมงทั้ง 2 มาตรฐาน พร้อมกันในการพิจารณาให้สินเชื่อ ซึ่งในข้อเท็จจริงเกษตรกรที่มีมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่งก็เพียงพอแล้ว ตามที่กรมประมงกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้ด้วยแล้วนั้น
ในการนี้ทางสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย จึงได้เสนอ อธิบดีกรมประมง ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ได้บรรจุวาระการประชุมคณะกรรมการฯเพื่อพิจารณา และมีมติส่งต่อชี้แจงข้อเท็จจริงแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนมติข้างต้นต่อไป