วันที่ 6 ตุลาคม 2564 นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา สรุปผลการศึกษา (สัมมนาครั้งที่ 3) งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์
โดยมีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ Zoom conference ที่ห้องประชุมทีลอซู ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดตาก อ.เมือง จ.ตาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ เป็นการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมการลงทุนในโครงการที่สำคัญของประเทศ บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออกตะวันตก(East West Economic Corridor-EWEC) ส่งเสริมให้แม่สอด เป็นเมืองหน้าด่านประตูการค้าชายแดน เชื่อมโยง Asean Economics Community - AEC ในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด=พบพระ=แม่ระมาด)
ทั้งโครงการต่อเนื่อง และโครงการใหม่ที่มีความพร้อม โดยโครงการดังกล่าว เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ที่กระทรวงคมนาคม ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร และเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ
ซึ่งการพัฒนาระบบรถไฟสามารถลดระยะเวลา และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งสาธารณะ ทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการทางรางให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวตามแหล่งสถานที่ที่สำคัญในเขตภาคเหนือ
แนวเส้นทางรถไฟโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก มี 24 สถานี ระยะทาง 186.77 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด มี 5 สถานี ระยะทาง 68.15 กิโลเมตร สำหรับในพื้นที่จังหวัดตาก มี 8 สถานี ได้แก่ สถานีวังเจ้า , สถานีวังหิน , สถานีหนองบัวใต้ , สถานีตาก , สถานีด่านแม่ละเมา , สถานีแม่ปะ , สถานีแม่สอด และสถานีด่านแม่สอด
สำหรับการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาโครงการด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด และท้องถิ่นในจังหวัดตามแนวเส้นทาง ได้แสดงความคิดเห็น และน่าจะเป็นรอบสุดท้าย เพื่อนำมาประกอบการดำเนินการออกแบบรายละเอียดในขั้นตอนต่อไป
หากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นทางรถไฟสายที่มีการขุดเจาะอุโมงค์ยาวที่สุดในประเทศ โดยจะมีอุโมงค์รวม 4 แห่ง และนับเป็นเส้นทางรถไฟสายเปิดฟ้าเมืองตาก พัฒนาสู่ความเจริญที่ยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวการค้าระหว่างประเทศ