ดร.สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ระหว่างกรมการขนส่งทางบก กับ บริษัท ขนส่ง จำกัด ว่า บขส. ได้เห็นถึงความสำคัญในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาใช้เพื่อยกระดับและส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยให้กับรถโดยสารสาธารณะ ปัจจุบัน บขส. มีรถโดยสารที่ติดตั้งระบบจีพีเอส (GPS) จำนวน 396 คัน ซึ่ง บขส. สามารถตรวจสอบข้อมูลจากระบบ GPS ได้แบบเรียลไทม์ ผ่านห้องควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะด้วยระบบ GPS ของ บขส. ขณะที่ในส่วนของรถร่วมบริการที่อยู่ในกำกับดูแลของ บขส. ทั้งรถโดยสารขนาดใหญ่ และรถตู้โดยสาร กว่า 9,000 คัน สามารถติดตามข้อมูลระบบ GPS ผ่านศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ของ กรมการขนส่งทางบก เท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้การควบคุม กำกับและติดตามพฤติกรรมการขับขี่ และการใช้รถใช้ถนน เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอุบัติเหตุ เพิ่มความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร อีกทั้งเกิดเป็นความร่วมมือในการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม
ขณะเดียวกันบขส. จึงได้ประสานความร่วมมือ แลกเปลี่ยนข้อมูลระบบ GPS กับกรมการขนส่งทางบก โดยกรมการขนส่งทางบกจะช่วยสนับสนุนให้ บขส. สามารถดำเนินภารกิจ เพื่อประโยชน์สาธารณะ และเป็นการปฏิบัติตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิตอล พ.ศ. 2562
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ในความร่วมมือครั้งนี้ทาง กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด ได้ตกลงร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการติดตามรถระบบ GPS เพื่อใช้ควบคุม กำกับ และดูแลการเดินรถโดยสารเชิงรุก สอดคล้องตามแนวนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital economy) ของรัฐบาล เพื่อป้องกันหรือระงับอันตรายต่อชีวิตของผู้ใช้บริการรถโดยสารประจำทางของ บขส. และรถร่วมบริการ บขส. ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้น ของการร่วมมือทำงานแบบบูรณาการ เพื่อรังสรรค์ประโยชน์ และเพิ่มเติมความปลอดภัยในการเดินทางใช้รถใช้ถนนของประเทศ ในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก มีความมุ่งมั่น และตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ของประเทศ จึงมีโครงการ มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS โดยตั้งเป้าหมายให้รถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกขนาดใหญ่ มีระบบการควบคุม กำกับ และติดตามพฤติกรรม การใช้รถใช้ถนนทั้งในเรื่องความเร็ว ชั่วโมงการขับรถ แบบออนไลน์เรียลไทม์ และมีการบริหารจัดการข้อมูลผ่านศูนย์บริหารจัดการเดินรถระบบ GPS ในส่วนกลางและภูมิภาค ทั้ง 76 จังหวัด