“บิ๊กตู่” ห่วงชาวอุบลฯ สั่งป้องกันผลกระทบมวลน้ำหลาก

15 ต.ค. 2564 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2564 | 18:10 น.

“นายกรัฐมนตรี” ลงพื้นที่จังหวัดอุบลฯ สั่งรับมือ ป้องกันผลกระทบมวลน้ำหลาก ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 เตรียมแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้มีความพร้อมสูงสุด

 

ติดตามนายกฯ ลงพื้นที่

 

วันนี้ (15 ต.ค. 64) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังติดตาม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำของ จ.อุบลราชธานี ณ เขื่อนสิรินธร ต.นิคมลำโดมน้อย อ.สิรินธร พร้อมตรวจเยี่ยมการบรรเทาภัยและการฟื้นฟูผู้ประสบภัย ณ ศูนย์พักพิงโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ต.วารินชำราบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เนื่องจากมีการประเมินสถานการณ์ว่ามวลน้ำหลากจากพื้นที่ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม และนครราชสีมา จะไหลมารวมที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

 

จากการลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อเป็นการติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำและเร่งรัดการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 ให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากมวลน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากการติดตามคาดการณ์สถานการณ์น้ำของ จ.อุบลราชธานี ทั้งในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลในระยะต่อจากนี้ พบว่า บริเวณลุ่มน้ำชี คาดการณ์ประเมินปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีผ่านอำเภอเขื่องใน จะไปบรรจบลงแม่น้ำมูล ที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี ประมาณ 900 - 1,000 ลบ.ม./วินาที    ไปถึงช่วงวันที่ 24 - 29 ต.ค. 64

 

แจกของช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะเร่งระบายมวลน้ำของแม่น้ำมูลลงแม่น้ำโขง ก่อนที่มวลน้ำจากแม่น้ำชีจะลงไหลลงไปสมทบภายหลัง ณ เมืองอุบลราชธานี ซึ่งจะไม่มีผลทำให้ปริมาณน้ำที่สถานี M.7 ล้นเอ่อท่วมในเขตเศรษฐกิจเมืองอุบลราชธานี   ส่วนบริเวณลุ่มน้ำมูล ณ สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำสูงสุดเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 64 อยู่ที่ 7.49 เมตร (สูงกว่าตลิ่ง 0.49 เมตร) และปัจจุบันระดับน้ำอยู่ที่ 6.70 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 0.30 เมตร มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง วันละ 0.10 - 0.15 เมตร

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้ดำเนินโครงการสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ทั้งการดำเนินงานในปัจจุบันและแผนในระยะถัดไป โดยในช่วงปี 2559 – 2564 เกิดโครงการสำคัญรวม 34 โครงการ ครัวเรือนรับประโยชน์ 63,673 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 557,686 ไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเกือบ 300 ล้าน ลบ.ม. เป็นโครงการป้องกันภัยน้ำท่วม 10 โครงการ สามารถป้องกันพื้นที่น้ำท่วมได้กว่า 3.7 แสนไร่ ตัวอย่างโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำลำเจียง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อน โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า บ้านหนองไหล ฯลฯ

 

โครงการสำคัญปี 2565

 

นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการโครงการสำคัญ ปี 2565 – 2567 อีก 129 โครงการ ซึ่งอยู่ภายใต้แผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และแผนปฏิบัติการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 5 ปี ครอบคลุมทั้ง 6 ด้าน สอดคล้องตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ซึ่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทำให้มีพื้นที่รับประโยชน์ 2.40 ล้านไร่ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเกือบ 2,000 ล้าน ลบ.ม. เป็นโครงการป้องกันภัยน้ำท่วม 20 โครงการ สามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ 84,582 ไร่

 

เช่น 1) โครงการผันน้ำ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์-ลำตะคอง 2) โครงการบรรเทาอุทกภัย ทน.ราชสีมา-อำเภอพิมาย และเพิ่มพื้นที่ชลประทานอำเภอโนนสูง 3) โครงการประตูระบายน้ำลำน้ำเชิญ   4) โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่โรงกรองน้ำบ้านมะขามเฒ่า และ 5) อ่างเก็บน้ำห้วยกระแหล่ง เป็นต้น

 

นอกจากการติดตามเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมพร้อมรับมือกับมวลน้ำหลากเพื่อป้องกันผลกระทบแก่ชาวอุบลราชธานีให้ได้มากที่สุดแล้ว นายกรัฐมนตรียังได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำท่วมในช่วงนี้ โดยคำนึงถึงการเพิ่มการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป ควบคู่กับมอบหมายให้กรมชลประทาน ร่วมกับจังหวัดอุบลราชธานีและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับโครงการผันน้ำเลี่ยงเมืองอุบลราชธานี

 

ดูพื้นที่รับน้ำหลาก

ตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำหลากในเขตผังน้ำมูล-ชี ที่ สทนช.ดำเนินการศึกษา ให้หน่วยงานเกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนสู่การปัญหาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืน อาทิ การประเมินระยะเวลาการเดินทางของน้ำตามลำน้ำเพื่อคาดการณ์ และเตือนภัยระดับและปริมาณน้ำ หรือก่อสร้างแนวผันน้ำเพิ่มเติมในบริเวณชุมชนที่สำคัญบริเวณแม่น้ำมูลตอนล่าง พัฒนาพื้นที่ลุ่มต่ำ (แก้มลิงธรรมชาติ) เป็นพื้นที่น้ำนอง เพื่อบริหารจัดการร่วมกับเขื่อนระบายน้ำในแม่น้ำมูลได้ เป็นต้น เพื่อการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ได้ในระยะยาว