พิษน้ำท่วม-โควิดทุบท่องเที่ยว-อาหารสัตว์พุ่ง กดผลผลิตหมูไทยวูบ 5 ล้านตัว

18 ต.ค. 2564 | 13:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2564 | 20:24 น.

พิษน้ำท่วม วัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง เกษตรกรแบกต้นทุนสูง โควิดทุบซ้ำนักท่องเที่ยวหาย เกษตรกรระมัดระวังนำสุกรเข้าเลี้ยงหลังขาดทุนสะสมมานานกว่า 3 ปี กระทบผลผลิตหมูไทยวูบแล้ว 25% หรือเกือบ 5 ล้านตัว

 

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ส่งผลกระทบให้ผลผลิตสุกรเสียหาย เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรส่วนใหญ่ชะลอการนำสุกรชุดใหม่เข้าเลี้ยงออกไปก่อน และบางส่วนเข้าเลี้ยงสุกรบางลงไม่เต็มกำลังการผลิต เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วม และรอดูสถานการณ์โรค  ทั้งภาวะโรคในสัตว์ อาทิ PRRS หรือเพิร์ส  และสถานการณ์การระบาดโควิด-19  ขณะที่ต้นทุนการผลิตสุกรในปัจจุบันตามข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) อยู่ที่ 80.50 บาทต่อกิโลกรัม  ปัจจัยสำคัญมาจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ใช้ในสูตรการผลิตอาหารสุกรมากถึง 50 % มีราคาถึงกิโลกรัมละ 11.35 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

 

ปัจจุบัน คาดว่าประเทศไทยจะมีแม่สุกรจำนวน 8 แสนตัว ลดลงจากปกติที่มีจำนวน 1.1 ล้านตัว คิดเป็นผลผลิตสุกรที่หายไปจากระบบประมาณ 30 %  ทำให้คาดว่าไทยจะมีการผลิตสุกรขุนจำนวน 15 ล้านตัวต่อปี จากเดิมที่มีการผลิตที่ 19-20 ล้านตัวต่อปี(ลดลง 4-5 ล้านตัว) หรือลดลง 25 %  เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ต่างมีความระมัดระวังในการนำสุกรเข้าเลี้ยง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ประสบกับปัญหาการขาดทุนสะสมนานกว่า 3 ปีในช่วงก่อนหน้านี้

 

พิษน้ำท่วม-โควิดทุบท่องเที่ยว-อาหารสัตว์พุ่ง กดผลผลิตหมูไทยวูบ 5 ล้านตัว

 

น.สพ.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในปี 2564 เกษตรกรได้มีการบริหารจัดการฟาร์มและพัฒนาระบบการเลี้ยงด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ หรือ Biosecurity ในฟาร์มอย่างเข้มงวด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ป้องกันความเสี่ยงจากโรค ASF ขณะเดียวกัน โรค PRRS ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทำให้การผลิตสุกรเสียหายเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ฟาร์มสุกรของเกษตรกรรายย่อยและฟาร์มขนาดเล็กมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น 

 

ขณะเดียวกัน ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรยังได้รับผลกระทบจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมที่หดตัวลง  เนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 มีการปิดสถานที่เสี่ยง รวมถึงมาตรการล็อคดาวน์ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรลดลง ส่งผลต่อราคาขายสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มของเกษตรกรมีภาวะตกต่ำ สวนทางกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจเข้าเลี้่ยงสุกรขุนลดลงดังกล่าวข้างต้น