"ดีพร้อม" ปั้นคลัสเตอร์หุ่นยนต์ดันเอสเอ็มอีไทยสู่ยุค 4.0

20 ต.ค. 2564 | 05:27 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 12:27 น.

ดีพร้อม โชว์พลังคลัสเตอร์หุ่นยนต์ รวมกลุ่มฝ่าวิกฤตสร้างระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำ ลดนำเข้าต่างประเทศ พร้อมเตรียมเปิดทางสร้างพันธมิตรธุรกิจหุ่นยนต์ หวังดันเอสเอ็มอีไทยไปสู่ยุค 4.0

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เปิดเผยว่า ดีพร้อมได้ดำเนินการเร่งพัฒนาและฟื้นฟูผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหุ่ยยนต์ผ่านการสร้างและพัฒนาการรวมกลุ่มอุตสาหกรรม หรือ คลัสเตอร์ (Cluster) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างนวัตกรรมร่วมกัน ตลอดจนบูรณาการการทำงานระหว่างกันได้ 
ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้ดำเนินการพัฒนาคลัสเตอร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยมีกลไกและกระบวนการพัฒนาตั้งแต่การกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการรวมกลุ่ม การพัฒนากลุ่มให้เข้มแข็ง การพัฒนาธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมให้เติบโต เข้มแข็ง และยั่งยืน โดยเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม 
สำหรับเครื่องมือและกระบวนการอันสำคัญหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศได้คือการพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ หรือคลัสเตอร์ ซึ่งมีจำนวนกลุ่มอุตสาหกรรมที่พัฒนามาแล้วอย่างต่อเนื่อง จำนวน 123 กลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และสิ่งที่น่าสนใจพบว่าเป็นคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย 11 กลุ่ม ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ตลอดจนเป็นการปูทางสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี
นายณัฐพล กล่าวต่อไปอีกว่า คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก และถือเป็นก้าวสำคัญของ SMEs 4.0 คือ คลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งได้รวมตัวและบูรณาการการทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2562 ประกอบด้วยธุรกิจ SMEs จำนวน 22 บริษัทมีเป้าหมายและจุดยืนร่วมกันคือการเพิ่มกำลังการผลิต การลดนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ การนำความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทมาช่วยแก้จุดอ่อน (Pain Point) ของพันธมิตรภายในคลัสเตอร์ 

รวมถึงผลักดันให้ธุรกิจ SMEs มีโอกาสได้ใช้หุ่นยนต์เพื่อให้แข่งขันได้ในยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลง  ด้านกำลังแรงงาน และการลดต้นทุนด้านต่าง ๆ เนื่องจากในปัจจุบันจะพบว่าการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับสถานประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น มี SMEs จำนวนน้อยที่ใช้ระบบดังกล่าวในการจัดการกระบวนการผลิต เพราะส่วนใหญ่ยังคงเป็นการใช้เครื่องจักร รวมถึงเทคโนโลยีมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

ณัฐพล รังสิตพล อธิบดี ดีพร้อม
“สิ่งสำคัญที่ ดีพร้อม พยายามพัฒนาและยกระดับคลัสเตอร์ให้มีความเข้มแข็งได้มุ่งเน้นทั้งการกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อปรับเปลี่ยนแนวความคิดจากเดิมที่ต่างคนต่างทำหรือต่างคนต่างเก่ง เปลี่ยนการดำเนินงานจากการแข่งขันเพียงเพื่อความอยู่รอดของตัวเองฝ่ายเดียวมาเป็นพันธมิตร พร้อมวิเคราะห์สถานภาพของกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อให้ธุรกิจในคลัสเตอร์ทราบถึงระดับความสามารถในการแข่งขัน และนำสิ่งต่าง ๆ มาเติมเต็มได้ รวมถึงยังได้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับความต้องการการพัฒนาธุรกิจ ผลักดันเวทีหรือกิจกรรมการปฏิบัติจริงทั้งในด้านการทดสอบตลาด การพัฒนาบุคลากร การใช้เทคโนโลยี และยังติดตามความสำเร็จ และเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์อื่น ๆ ต่อไป”

อย่างไรก็ดี ดีพร้อม ยังได้มีการติดตามผลลัพธ์ ซึ่งพบว่าสิ่งที่คลัสเตอร์หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติประสบความสำเร็จ คือ มีการซื้อขายระบบเทคโนโลยีรวมถึงหุ่นยนต์ระหว่างกันคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 95 ล้านบาท หรือ 4.75 ล้านบาทต่อกิจการ พร้อมด้วยความสำเร็จของการพัฒนาระบบอัตโนมัติต้นทุนต่ำ Low Cost Automation ซึ่งทำให้ธุรกิจในกลุ่มสามารถมีระบบอัตโนมัติช่วยการปรับปรุงกระบวนการผลิตในราคาที่เอื้อมถึงได้ คืนทุนได้เร็วเฉลี่ยประมาณ 12 เดือน และมีราคาที่ถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศเฉลี่ย 300,000 – 500,000 บาท จากปกติที่ต้องนำเข้าในราคาระดับหลักล้านบาท 
นายณัฐพล กล่าวอีกว่า ดีพร้อม ยังมีแนวทางในการต่อยอดให้กลุ่ม SMEs มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 1.การดึงกลุ่มสถานประกอบการที่มีความต้องการใช้หุ่นยนต์เข้ามาร่วมในกลุ่มคลัสเตอร์ดังกล่าว ซึ่งจะทำให้ผู้พัฒนาระบบทราบถึงความต้องการของพันธมิตร และต่อยอดสู่เทคโนโลยีเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น 
2.การส่งเสริมและเชื่อมโยงผ่านกลไกด้านการเงิน พร้อมให้ความรู้กับผู้ประกอบการได้เห็นถึงสิทธิประโยชน์จากการนำหุ่นยนต์มาใช้ เช่น มาตรการด้านภาษี ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราต่ำ รวมถึงจัดทำข้อเสนอทางเทคนิคและข้อเสนอด้านการเงินสำหรับ SMEs เพื่อใช้ในการขอสินเชื่อจากกองทุนและจากธนาคารพาณิชย์ 
3.จัดหาหรือดึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ / ประสบการณ์ในด้านระบบอัตโนมัติรวมถึงหุ่นยนต์มาช่วยให้ความรู้ หรือเทคนิคสำคัญให้กับผู้ประกอบการในคลัสเตอร์ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านที่ปรึกษา พร้อมช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาเทคโนโลยีประสิทธิภาพได้มากขึ้น 
และ4.ส่งเสริมแผนงานด้านการตลาด เนื่องจากในปัจจุบันแม้คลัสเตอร์จะเริ่มประสบความสำเร็จในการแบ่งปัน - ซื้อขายเทคโนโลยีระหว่างกัน แต่ยังจำเป็นต้องทำให้เกิดการซื้อขายนอกกลุ่ม หรือช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้เกิดมูลค่าและการเป็นที่รู้จักที่มากขึ้นต่อไป
"การดำเนินการดังกล่าวเป้นไปตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีนโยบายผลักดัน 12 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต ซึ่งอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ก็ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ"

ดีพร้อม โชว์พลังคลัสเตอร์หุ่นยนต์รวมกลุ่มฝ่าวิกฤต
นายพชระ แซ่โง้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด ผู้ผลิตแขนกลยูนิบอท และบอร์ดบริหารคลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า บริษัทมีแนวคิดในการผลิตหุ่นยนต์เพื่อเชิงพาณิชย์ และแบ่งปันให้ธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะพันธมิตรในกลุ่มคลัสเตอร์ได้มีเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากในท้องตลาดมีราคาค่อนข้างสูง 
โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทเป็นแขนกลที่สามารถเลือกปรับแต่งระบบการทำงานตามความต้องการได้ สามารถนำไปใช้ทำงานได้หลากหลาย และตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะด้าน มีราคาที่จับต้องได้ โดยราคาทั้งหมดรวมค่าบริการการซ่อมบำรุงและระบบที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี สำหรับกระบวนการผลิตแขนกลนั้น ต้องยอมรับว่าการได้เข้าร่วมกับคลัสเตอร์มีส่วนช่วยให้ประสบผลสำเร็จอย่างมากเพราะการพัฒนาเพียงลำพังนั้นไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งจำเป็นจะต้องมีผู้พัฒนาระบบ มีพื้นที่ทดสอบ มีผู้เชี่ยวชาญในการช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งในกลุ่มนี้แม้จะมีพันธมิตรเพียงหลัก 20 ราย แต่ทุกคนสามารถช่วยเหลือกันได้เป็นอย่างดี
นายสมควร จันทร์แดง กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูเนี่ยน แอพพลาย จำกัด สมาชิกคลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในกลุ่มมีความพึงพอใจต่อเทคโนโลยีที่ได้รับอย่างมาก ทั้งด้วยราคาที่เข้าถึงได้ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งโรงงานของตนได้มีการนำแขนกลของ บริษัทยูนิคัล เวิร์คส์ ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกคลัสเตอร์หุ่นยนต์ฯ มาใช้ในกระบวนการผลิตกระบอกไฮโดรลิก 
เมื่อวิเคราะห์ถึงการลดต้นทุนในภาพรวมพบว่า 1 แขนกลสามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาเพียง 10.4 เดือน ลดแรงงานที่ต้องทำงานซ้ำ ๆ ได้ 2 คน คิดเป็นมูลค่า 252,000 บาทต่อปี ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเครื่องจักรได้ถึง 3 เครื่อง สามารถผลิตชิ้นส่วนกระบอกไฮโดรลิกจาก 18,000 ชิ้น เป็น 42,000 ชิ้นต่อปี คิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการผลิต 113% จากเดิมที่มีมูลค่า 130,680 บาท/ปี เป็น 278,760 บาท/ปี และยังลดค่าซ่อมบำรุงและค่าเสื่อมสภาพได้ถึง 130,000 บาทต่อปี จากเดิมที่ต้องใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวที่ 240,000 บาท
นอกจากนี้ ยูเนี่ยน แอพพลาย ยังเล็งเห็นถึงการนำหุ่นยนต์เข้ามาอำนวยความสะดวกในโรงงานไม่ว่าจะเป็นการจัดการโควิด–19 (covid-19) ในองค์กร ซึ่งหุ่นยนต์จะช่วยตอบโจทย์กับมาตรการเว้นระยะห่างและช่วยทำงานแทนมนุษย์ในกรณีที่หากมีการติดเชื้อ รวมถึงมีแผนนำมาใช้ในการทดแทนแรงงานที่ต้องทำงานเสี่ยง ๆ ซ้ำ ๆ โดยที่ให้ผลตอบแทนน้อย และจะพัฒนาแรงงานส่วนที่ถูกทดแทนให้มีทักษะในการควบคุม หรือใช้งานหุ่นยนต์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพโดยที่ไม่ต้องสูญเสียแรงงานอย่างสูงสุด 
นายสมควร กล่าวต่ออีกว่า ยังมีแผนงานในการร่วมมือกับกลุ่มคลัสเตอร์เพื่อพัฒนาระบบรีโมท - ติดตามหุ่นยนต์ในระยะไกล ซึ่งจะทำให้ผู้พัฒนาและผู้ใช้สามารถเชื่อมต่อกันได้แบบเรียลไทม์ โดยที่ไม่ต้องเดินทางถึงกัน พร้อมทั้งแผนในการดึง SMEs รายอื่น ๆ ที่ต้องการใช้หุ่นยนต์ให้เข้ามาในกลุ่ม ซึ่งจะทำให้มีความแข็งแกร่ง และจับมือกันไปสู่ SMEs 4.0 ได้ตามเป้าหมายของรัฐบาลได้วางเอาไว้