เอกชนชงแพ็กเกจปั๊มเศรษฐกิจ ฉีด 1 ล้านล้าน ดันจีดีพีปี 65 โต 7%

21 ต.ค. 2564 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ต.ค. 2564 | 15:56 น.

เอกชนชงรัฐ แพ็กเกจสตาร์ทเครื่องเศรษฐกิจรับเปิดประเทศ หอการค้าฯดัน HUG THAIS HUG BANGKOK กระตุ้นกำลังซื้อคนกทม. จี้เร่งใช้เงินกู้ 5 แสนล้านโค้งท้าย พ่วงกู้ก้อนใหม่อีก 5 แสนล้านดันศก.ต้นปีหน้า กกร.เตรียมทำหนังสือพบ “บิ๊กตู่” เสนอแผนดันจีดีพีไทยปี 65 โต 5-7%

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.นี้ เป้าหมายสำคัญเพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ เข้ามาใช้เงินเพื่อช่วยกระตุ้นและฟื้นเศรษฐกิจไทย รวมถึงได้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเปิดดำเนินการได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นและขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้

 

อย่างไรก็ดีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่จะส่งผลกระทบ ทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์น้ำท่วมที่ยังมีอยู่ในหลายจังหวัดสร้างความเสียหายเศรษฐกิจ และกระทบกำลังซื้อของคนในพื้นที่ เงินบาทอ่อนค่าระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ กระทบราคาพลังงานและต้นทุนสินค้านำเข้า และสินค้าที่ผลิตในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และการเปิดประเทศมีความเสี่ยงโควิดอาจกลับมาระบาดรอบใหม่ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือร่วมใจกันในการฝ่าปัจจัยเสี่ยงและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้กลับมาฟื้นตัว

 

กกร.ชี้รัฐกระตุ้นให้ตรงจุด

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวและรองรับกับการเปิดประเทศได้นำเสนอมาตรการต่อรัฐบาลไปแล้วในหลายเรื่องและรัฐบาลได้เห็นชอบ แต่ย้ำมาตรการต่าง ๆ ต้องลงไปให้ถูกจุดที่ได้รับผลกระทบจริง ตัวอย่างเช่น เรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู(วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท) มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (วงเงิน 1 แสนล้านบาท) ต้องมีการปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับกระทบจริงเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

 

สนั่น  อังอุบลกุล

 

“ณ วันที่ 11 ต.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทยระบุข้อมูลว่า สินเชื่อฟื้นฟูอนุมัติแล้ว 114,345 ล้านบาท ได้ไป 36,584 ราย และ พักทรัพย์พักหนี้ 18,485 ล้านบาท 126 ราย ถือว่ายังเข้าถึงได้ไม่มาก หากจะช่วยผู้ประกอบการจริง ควรจะได้ยอดมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดได้เงินมาพยุงธุรกิจ ซึ่งส่วนนี้เราได้เสนอไปทั้งการค้ำประกันของ บสย. ที่ควรจะเพิ่มขึ้น และปรับรายละเอียดของมาตรการ พักทรัพย์พักหนี้ด้วย”

 

 

เอกชนชงแพ็กเกจปั๊มเศรษฐกิจ ฉีด 1 ล้านล้าน ดันจีดีพีปี 65 โต 7%

 

โปรโมต กทม.รับเปิดประเทศ

นอกจากนี้ภาครัฐควรเร่งให้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เน้นการกระจายรายได้ พร้อมกับรักษาการจ้างงาน ซึ่งจะช่วยเร่งการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ส่วนมาตรการที่รัฐบาลออกมาในช่วงนี้ เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 3 จะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศให้กลับมาคึกคักในช่วงท้ายปี โครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 3 จะเป็นแรงเสริมภาคการท่องเที่ยวในช่วงไฮ-ซีซั่น ในส่วนนี้อยากให้รัฐบาลเร่งมีมาตรการเสริม ทั้งช้อปดีมีคืน และเติมเงินให้คนละครึ่ง เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น

 

“ล่าสุดเราเสนอให้กทม. ทำโปรโมชั่นพิเศษ HUG THAIS HUG BANGKOK (ฮักไทย ฮักกรุงเทพฯ) ร่วมกับหอการค้าไทย ภาคธุรกิจ และ ททท. เหมือนที่ทำ HUG THAIS HUG PHUKET แล้วได้ผล โดยดึงร้านค้าทั้งหลายร่วมมือกันแจกเวาเชอร์(คูปองส่วนลด) ให้ประชาชนมาช้อป กิน เที่ยว และใช้สินค้าและบริการที่เป็นแบรนด์ของไทย อาจเริ่มได้เดือนพ.ย.นี้ ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับกรุงเทพฯที่จะเปิดเมือง และหากรัฐไฟเขียวช้อปดีมีคืนมาช่วย ก็จะช่วยเสริมได้อีกแรง”

 

ขอพบนายกฯแผนดันจีดีพีปี 65

นายสนั่นกล่าวอีกว่า ในโค้งสุดท้ายของปีนี้อยากให้รัฐบาลเร่งนำเงินกู้ 5 แสนล้านบาท มาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงอาจกู้อีก 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปีหน้า ทั้งนี้หากรัฐบาลสามารถใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด คาดจีดีพีไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ 5-7% อย่างไรก็ดีเพื่อให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าสามารถฟื้นตัวกลับมา ทางกกร.มีแผนที่หารือกันไว้แล้ว โดยจะปรับข้อเสนอแล้วยื่นเรื่องเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือภายในเดือนนี้

 

จี้เร่งช่วย SME ภาคบริการ

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเร่งกลไกเพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ภาคบริการ ค้าปลีก ร้านอาหารต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและเวลานี้ไม่เหลือทุนสำรองต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ ให้เข้าถึงเงินกู้ในระบบได้ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ จากเวลานี้ผู้ประกอบการยังมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้จริง เพราะกฎเกณฑ์การให้สินเชื่อของรัฐผ่านธนาคารพาณิชย์ยังเป็นกลไกเดิม ๆ และมองมีความเสี่ยง ขณะที่ผู้ที่ไปต่อได้ในเวลานี้คือผู้ประกอบการที่เป็นเชนใหญ่ ๆ ที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

“ส่วนในภาคอุตสาหกรรมเวลานี้หากเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไม่ค่อยมีปัญหา เพราะสามารถนำออร์เดอร์มาขอขยายวงเงิน หรือเครดิตต่าง ๆ ได้ แต่อุตสาหกรรมที่ผลิตและขายในประเทศที่ซบเซามานาน และเวลานี้กำลังซื้อในประเทศก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ในรายที่จำเป็นนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่นจากจีน สินค้าบางรายการขาดแคลน จากจีนเกิดวิกฤติด้านพลังงานและลดการผลิต และยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทอ่อนค่าทำให้ต้นทุนเข้าพุ่งสูงขึ้นหากไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านสินเชื่อก็จะกลับมายาก เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข”

 

แนะกระตุ้น domestic demand

นายรติ  พันธุ์ทวี นายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลต้องมองถึง domestic demand (อุปสงค์ในประเทศ) เป็นสิ่งสำคัญ เพราะในช่วง 3-6 เดือนนับจากเปิดประเทศ จะคาดหวังเศรษฐกิจคึกคักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติคงเป็นเรื่องที่ยาก เพราะทั้งนักท่องเที่ยวจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญยังไม่ปล่อยให้ออกเดินทางท่องเที่ยว ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมกันภาครัฐต้องกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อในประเทศเอกชนต้องมีมูฟเม้นท์ดึงดูด ขณะที่ประชาชนเองต้องกล้าที่จะออกมาจับจ่าย หลายองค์ประกอบต้องช่วยกัน เบื้องต้นจึงมองว่า domestic demand จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อเปิดประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 1 พ.ย. หรือวันใดก็ตาม

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3724 วันที่ 21-23 ตุลาคม 2564