นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า กนอ. ได้ศึกษารูปแบบการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ โดยเบื้องต้น จะดำเนินการในลักษณะของการเชิญชวนผู้ประกอบการซึ่งเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม เป็นผู้จัดหาที่ดินของเอกชนและพัฒนาเป็นนิคมฯ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ โดยรัฐสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ขณะที่ กนอ. จะทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแล เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม ส่วนการคัดเลือกผู้ประกอบธุรกิจจะเน้นนวัตกรรม แรงงานใช้ทักษะฝีมือ และรูปแบบธุรกิจที่ทันสมัย
ทั้งนี้ กนอ.จะเร่งศึกษาความเป็นไปได้ มาตรการ และสิทธิประโยชน์ เพื่อดึงดูดนักลงทุน อาทิ จัดให้มีบริการระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม, การให้บริการอนุมัติ อนุญาต และกำกับดูแลการประกอบกิจการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม
,การยกเว้นค่าใช้จ่ายร่วมดำเนินงานนิคมอุตสาหกรรมให้แก่ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เช่น ค่าธรรมเนียมและบริการร่วมดำเนินงาน และการจัดให้มีและให้บริการสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ตลอดจนควบคุม กำกับดูแล และประสานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของนิคมฯ ให้เป็นไปตามกฎหมาย
"กนอ. จะให้เอกชนเป็นผู้จัดหาพื้นที่ โดยเน้นศึกษาความเป็นไปได้ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ และสมุทรสาครก่อน ซึ่ง กนอ. พร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่”
นายวีริศ กล่าวต่อไปอีกว่า การจัดตั้งนิคมดังกล่าวเป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 64 ซึ่งที่ประชุมรับทราบผลการศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตามที่กระทรวงยุติธรรมได้ทำการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ ฝึกทักษะอาชีพ พัฒนายกระดับฝีมือแรงงาน และสร้างผู้พ้นโทษให้เป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งเป็นการสร้างอาชีพในอนาคต ลดจำนวนอัตราการกระทำผิดซ้ำของผู้ต้องขัง โดยกลุ่มเป้าหมายคือผู้พ้นโทษและผู้อยู่ระหว่างพักการลงโทษหรือลดจำนวนวันต้องโทษ