เว้นภาษี 3 ปี 120% บีโอไอจัดให้ผู้ประกอบการช่วยองค์กรท้องถิ่นสู้น้ำท่วม

26 ต.ค. 2564 | 04:20 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2564 | 11:20 น.

บีโอไอให้สิทธิ์ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี 120% ส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีศักยภาพช่วยเหลือองค์กรท้องถิ่น ทั้งวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อช่วยพื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากจากสถานการณ์น้ำท่วม

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้กิจการขององค์กรท้องถิ่น ทั้งวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับผลกระทบจำนวนมาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) จึงได้ชวบผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าร่วมช่วยเหลือองค์กรท้องถิ่นผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรวมถึงสถานการณ์ภัยแล้ง
 นอกจากนี้ ยังเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กับกิจการขององค์กรท้องถิ่น โดยการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตและการบริการขององค์กรท้องถิ่นในกิจการด้านการเกษตรและเกษตรแปรรูป กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบา และกิจการท่องเที่ยวชุมชน

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า  มาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการขอรับสิทธิและประโยชน์ โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นมายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี สัดส่วนไม่เกิน 120% ของเงินสนับสนุน หรือเพิ่มวงเงินยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็น 120%  ของเงินสนับสนุน แล้วแต่กรณี 
สำหรับโครงการที่สามารถขอรับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ 

ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ บีโอไอ

กรณีที่ 1 โครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วไม่ว่าจะได้รับการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ก็ตาม จะต้องอยู่ในประเภทกิจการที่บีโอไอประกาศให้การส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน หรือโครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิมสิทธิและประโยชน์ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสิ้นสุดลงแล้ว หรือเป็นโครงการที่ไม่ได้รับสิทธิและประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
ส่วนกรณีที่ 2 โครงการที่ได้รับการส่งเสริมอยู่เดิม โดยสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลยังไม่สิ้นสุดลง หรือเป็นโครงการลงทุนใหม่ที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
นางสาวดวงใจ  กล่าวต่อไปอีกว่า เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งซ้ำซาก มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก จึงมุ่งเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเข้าไปมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นไม่ว่าจะเป็นด้านเงินทุน เทคโนโลยี หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อช่วยบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม แก้ไขทั้งปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง เช่นสถานการณ์นำท่วมที่หลายพื้นที่กำลังประสบอยู่ขณะนี้ 
โดยการช่วยเหลือเพื่อบริหารจัดการน้ำสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบตามสภาพพื้นที่ เช่น การก่อสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำ การขุดบ่อเพื่อกักเก็บน้ำ การสนับสนุนการสร้างพนังกั้นน้ำ การลงทุนและขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาล การติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อกลับมาใช้ใหม่ (Wastewater Recycle Plant) การนำเทคโนโลยีการบำบัดน้ำแบบ Reverse Osmosis (RO) มาติดตั้งในชุมชน เป็นต้น