ประกันรายได้เกษตรกร ปลูกมันสำปะหลังปี 64/65 สรุปเกณฑ์ เงื่อนไขครบที่นี่

26 ต.ค. 2564 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ต.ค. 2564 | 14:30 น.

สรุปโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปี 64/65 มีหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยอย่างไร เกษตรกรรายใหม่เข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ ที่นี่มีคำตอบ

รัฐบาลเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกร พร้อมมาตรการคู่ขนานรักษาเสถียรภาพราคาพืชผลทางการเกษตรที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 รวม 3 ชนิด ซึ่งประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง วงเงินรวม  2.7 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรกว่า 5.66 ล้านครัวเรือน

ในส่วนของการประกันรายได้เกษตรกรทั้ง 3 โครงการนี้ใช้งบประมาณรวม 2.2 หมื่นล้านบาท สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 ใช้วงเงินรวม 6,811 ล้านบาท ดูแลเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายได้ครอบคลุมกว่า 5.3 แสนครัวเรือน

ฐานเศรษฐกิจ พาไปเปิดรายละเอียดโครงการ หลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยส่วนต่างราคาและเงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการนี้กันว่ามีอะไรกันบ้าง

รายละเอียดโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65

  • ประกันราคาหัวมันสำปะหลังสดเชื้อแป้ง 25%  ราคากิโลกรัมละ 2.50 บาท 
  • ครัวเรือนละไม่เกิน 100 ตัน และไม่ซ้ำแปลง
  • ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกมันสำปะหลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 มีนาคม 2565 
  • ใช้เงินทุนจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ย และค่าบริหารจัดการให้กับ ธ.ก.ส. 

ระยะเวลาโครงการ

เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 31 พฤษภาคม 2566 

สำหรับผลการดำเนินโครงการในปี 2563/64 ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างทั้งสิ้นรวม 9 งวด โดยโอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว 436,817 ครัวเรือน รวม 3,057 ล้านบาทซึ่งจะสิ้นสุดการจ่ายเงินงวดสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายนนี้ 

สำหรับมาตรการคู่ขนาน 4 โครงการ มีรายละเอียดดังนี้

  1. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 690 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 41.40 ล้านบาท 
  2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมมันสำปะหลังและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 2564/65 วงเงิน 500 ล้านบาท 
  3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาดชดเชยดอกเบี้ย 225 ล้านบาท
  4. โครงการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปมันสำปะหลัง ปี 2564/65 วงเงิน 10 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการปลูกมันสำปะหลังจะต้องใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน ทำให้เกษตรกรบางส่วนที่เริ่มปลูกช้าและใช้เวลาปลูกนาน ไม่สามารถรับสิทธิโครงการได้ทัน

ดังนั้น ในที่ประชุม ครม. ครั้งล่าสุดจึงได้เห็นชอบให้สิทธิเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2562/63 คือ กลุ่มที่แจ้งปลูกตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563 จำนวน 8.41 หมื่นครัวเรือนให้ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ฯ ปี 2563/64 

โดยค่าใช้จ่ายในการชดเชยส่วนต่างกลุ่มดังกล่าวนี้ ยังคงภายใต้กรอบวงเงินโครงการเดิมตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563