นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผย ยอดจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือนกันยายน 2564 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 5,820 ราย เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (กันยายน 2563) และเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเปรียบเทียบกับ เดือนก่อนหน้า (สิงหาคม 2564) ส่วนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจในเดือนกันยายนมีจำนวน 1,503 ราย ลดลง 4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (กันยายน 2563) แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (สิงหาคม 2564) เพิ่มขึ้น 28%
ขณะที่การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 17,034 ราย เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การจดทะเบียนเลิกธุรกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 มีจำนวน 3,819 ราย ลดลง 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 56%
ทั้งนี้ การลดลงของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนการจดทะเบียนเลิกธุรกิจในไตรมาสที่ 3 นั้น โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการจดทะเบียนเลิกสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป จดเลิกเพิ่มขึ้น 115 ราย คิดเป็น 58% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จดเลิกเพิ่มขึ้น 62 ราย คิดเป็น 38% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจดเลิกเพิ่มขึ้น 32 ราย คิดเป็น 38% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 1,929 ราย คิดเป็น 11% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 725 ราย คิดเป็น 4% และธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสาร จำนวน 622 ราย คิดเป็น 4% ตามลำดับ
หากพิจารณาจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ในบางธุรกิจสอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น ธุรกิจสร้างแม่ข่าย มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 172 ราย เพิ่มขึ้น 6 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และธุรกิจปลูกพืชประเภทเครื่องเทศ เครื่องหอม ยารักษาโรค และพืชทางเภสัชภัณฑ์มีจำนวนจัดตั้งใหม่ทั้งสิ้น 44 ราย เพิ่มขึ้น 4 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายส่งเสริมให้โรงพยาบาลของรัฐนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคควบคู่กับการใช้ยาแผนปัจจุบัน การปลดล็อคกัญชงให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าการบริโภคสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการที่มองเห็นช่องทางในการปรับเปลี่ยนธุรกิจจึงหันมาจัดตั้งธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรบมาตรการล็อคดาวน์ และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศที่เพียงพอ รวมทั้งนโยบายการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จะเป็นปัจจัยที่สร้างความเชื่อมั่นที่ดีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ผู้ประกอบธุรกิจจึงควรปรับตัว และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง