ด้วงมะพร้าว ภัยร้ายต้นมะพร้าวและชาวสวน วันนี้เป็นอาหารโอชะด้วยเมนูสุดฮิตในหมู่นักเปิบแมลงกินได้ กลายเป็นโอกาสจากอาชีพเสริมในช่วงเวลาว่าง เติมรายได้ในช่วงโควิด-19 ของครอบครัวครูระยอง
ด้วงมะพร้าว ซึ่งเป็นภัยร้ายของต้นมะพร้าว ที่เกษตรกรต้องประสบปัญหาอย่างหนัก เมื่อต้นมะพร้าวในสวนมักจะถูกด้วงกัดกิน จนต้องยืนต้นตายมาแล้วจนหมดสวน
เมื่อต้นมะพร้าวถูกกองทัพด้วงเข้ากัดกิน ก็จะยืนต้นตาย ชาวสวนต้องโค่นทิ้ง และจับตัวด้วงที่กำลังชอนไชต้นมะพร้าวมาประกอบเป็นอาหาร แล้วรีบเผาทำลายซากมะพร้าวทันที
แต่เวลานี้ด้วงมะพร้าวก็กำลังเป็นอาหารยอดฮิต เพราะปรุงได้หลากหลายเมนู และยังมีโปรตีนสูง ทำให้เกิดอาชีพเลี้ยงด้วงมะพร้าวขาย ซึ่งการเลี้ยงด้วงมะพร้าวไม่ใช่เรื่องยาก ใช้เงินลงทุนไม่มากนัก
ส่วนเวลาก็ทำได้ทั้งกลางวันและกลางคืน สามารถทำเป็นงานอดิเรกหรืออาชีพเสริม โดยเลือกช่วงเวลาที่ว่าง เช่น ตอนเย็น หลังเลิกงาน เป็นต้น
นางวสุพร หรือครูหนู ธรรมศิริ อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 50 ม.6 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ข้าราชการครู กล่าวว่า ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด โรงเรียนยังไม่เปิดให้นักเรียนไปเรียนที่โรงเรียน จึงพอมีเวลาบ้าง เช่น ช่วงเย็นและช่วงกลางคืน ก็เลยคิดหาอาชีพเสริมมาช่วยให้เกิดรายได้เพิ่ม
เพื่อนแนะนำให้เลี้ยงด้วงมะพร้าวเพราะไม่ต้องใช้เงินทุนสูง และใช้เวลาตอนไหนทำก็ได้ จึงเริ่มทดลองเลี้ยง เริ่มแรกได้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์มา เพื่อนสอนการผสมอาหารให้ ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 45 วันก็ได้ด้วงที่ส่งขายได้
จึงช่วยกันทำสองคนกับหลานสาว วัย 10 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่เรียนออนไลน์อยู่กับบ้าน โดยใช้เวลาหลังจากเรียนเสร็จ ก็มาช่วยกันทำอย่างมีความสุข เพราะไม่ยุ่งยาก ไม่เหน็ดเหนื่อย และมีรายได้ ตั้งใจว่าจะขยายเพิ่มเป็นฟาร์ม และทำเป็นอาชีพหลักหลังจากเกษียณอายุราชการ
การเลี้ยงด้วงมะพร้าว เริ่มจากนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ใส่ในกะละมัง ที่มีอาหาร คือ มันบด หัวอาหารหมู กากน้ำตาล และEM ผสมตามสัดส่วน ปิดฝาเลี้ยงไว้ในสถานที่ปลอดภัย ป้องกันแมลงและสัตว์อื่นที่จะเข้าไปทำลายด้วง ประมาณ 45 วัน ก็จับด้วงขายได้ ส่วนตัวพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ก็จะถูกนำไปเลี้ยง แยกให้อาหารเพื่อให้ขยายพันธุ์ต่อไปได้อีก
ทั้งนี้ ที่เป็นเคล็ดลับของด้วงมะพร้าวที่นี่คือ ก่อนถึงวันนัดส่งด้วงให้ลูกค้า ครูหนูจะนำด้วงมาล้างท้องเป็นเวลา 1 คืน โดยแช่ด้วงในน้ำนมสดและผลไม้ เพื่อให้ด้วงกินน้ำนมและกัดกินผลไม้เข้าไป
ซึ่งผลไม้ที่จะให้ด้วงกินนั้นขึ้นอยู่กับลูกค้า ว่าต้องการให้ด้วงมีรสชาติอะไร เช่น ส้ม แครอท แอปเปิ้ล แต่ถ้าลูกค้าไม่เจาะจง ก็จะใช้เป็นมะละกอ ผสมในน้ำนมให้ด้วงกินจนอิ่มเป็นเวลาหนึ่งคืน ก่อนจับมาแช่แข็งจัดส่งให้ลูกค้าทั่วประเทศต่อไป
ด้านเด็กหญิงนารีรัตน์ ธรรมศิริ หลานสาววัย 10 ปี บอกว่า ครั้งแรกก็รู้สึกกลัว แต่พอได้เริ่มจับเริ่มทำก็ไม่กลัวแล้ว ส่วนหน้าที่ที่ต้องทำทุกวัน คือ ผสมอาหาร และแยกตัวด้วงเพื่อคัดขนาด "พอได้ทำก็สนุกและความสุข มีรายได้ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์"
การเลี้ยงด้วงมะพร้าวนั้น กลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ผู้เลี้ยง ซึ่งมีตลาดผู้บริโภคที่สนใจสั่งซื้อไปประกอบการอาหารได้หลายเมนู เช่น ด้วงคั่ว ด้วงผัดกะเพรา และประกอบอาหารอื่น ๆ ราคากิโลกรัมละ 300-400 บาท ส่วนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ขายตัวละ 5 บาท ส่วนใหญ่ขายทางออนไลน์ และต้องสั่งจองก่อน เนื่องจากตลาดต้องการมาก จากที่มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์