"กรมส่งเสริมการเกษตร" เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรด้านแมลงเศรษฐกิจ และสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกรมาอย่างต่อเนื่อง
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โดยเริ่มดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงผึ้งให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และขยายผลส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งไปยังเกษตรกรทั่วประเทศ ต่อมาได้พัฒนาและขยายงานส่งเสริมแมลงเศรษฐกิจไปยังแมลงชนิดอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ
โดยเฉพาะแมลงเศรษฐกิจสำคัญ 5 ชนิด ได้แก่ ผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ชันโรง ครั่ง และ จิ้งหรีด ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นอาชีพเสริม หรืออาชีพทางเลือกที่มั่นคงให้กับเกษตรกรได้
เช่น การเลี้ยงผึ้งนอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจากการขายผลิตภัณฑ์จากผึ้งแล้ว เกษตรกรผู้ปลูกพืชยังได้ประโยชน์จากผึ้งในการช่วยผสมเกสรให้กับพืชที่ปลูก เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับไม้ผล
เช่น ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ เป็นต้น ส่วนการเลี้ยงจิ้งหรีดที่เป็นแหล่งอาหารใหม่ (Novel food) ให้โปรตีนสูงที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาดโลกอยู่ในขณะนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรเลี้ยงจิ้งหรีดให้ได้คุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
ตลอดจนส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตเบื้องต้นที่มีกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน เช่น น้ำพริกจิ้งหรีด ข้าวเกรียบจิ้งหรีด คุกกี้จิ้งหรีด เป็นต้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการเกษตรของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลจะใช้เป็นฐานข้อมูลดังกล่าวประกอบการกำหนดโครงการหรือมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรในด้านต่างๆ
"กรมส่งเสริมการเกษตร" จึงขอเชิญชวนเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ 5 ชนิดดังกล่าว มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ทำการเพาะเลี้ยงได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยเนื้อที่เพาะเลี้ยงขั้นต่ำในการขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำแนกตามประเภท
คือ ผึ้งพันธุ์และผึ้งโพรง อย่างใดอย่างหนึ่ง จำนวนชนิดละ 10 รังขึ้นไป ชันโรง จำนวน 20 รังขึ้นไป ครั่ง ซึ่งเลี้ยงบนไม้ยืนต้น จำนวนตั้งแต่ 5 ต้นขึ้นไป และจิ้งหรีด พื้นที่การเลี้ยงตั้งแต่ 30 ตารางเมตรขึ้นไป ทั้งนี้ เกษตรกรรายเดิมที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจแล้ว
เมื่อเริ่มฤดูกาลเพาะเลี้ยงรอบใหม่ในปริมาณเดิม สามารถแจ้งปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือผ่านแอปพลิเคชัน DOAE Farmbook ส่วนเกษตรกรที่ต้องการเพิ่มจำนวนการเพาะเลี้ยงในรอบฤดูกาลใหม่และเกษตรกรรายใหม่ สามารถแจ้งปรับปรุงและขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่เพาะเลี้ยงเท่านั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้รับการดูแลและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากภาครัฐ และภาครัฐจะนำข้อมูลของพี่น้องเกษตรกรไปใช้วางแผนเพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตและการตลาดให้กับเกษตรกรได้ถูกต้องแม่นยำต่อไป
กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเชิญชวนเกษตรกรผู้เลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ 5 ชนิดดังกล่าว แจ้งปรับปรุงหรือมาขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหรือผ่านแอปพลิเคชัน DOAE Farmbook ตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป