“โครงการประกันรายได้ข้าว” ปี 3 ยังคงลุ่มๆ ดอนๆ ขรุขระ ท่ามกลางการแพร่ระบาดไวรัส "โควิด-19" กำลังคุกคามไปทั่วโลกไม่เว้นแม้แต่เมืองไทย ปัจจุบันมีวัคซีนก็จริง แต่ยังไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้เท่านั้น ล่าสุด งวดที่1 “ประกันรายได้ข้าว” ได้เห็นชอบแล้ว อธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งว่า ให้ ธ.ก.ส.โอนให้ 3 วันทำการ (เคาะราคา เมื่อวันที่ 29 ต.ค.64) แต่กลับไม่เป็นตามนั้น
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 นายปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไหนว่าอนุมัติเห็นชอบแล้ว ในโครงการประกันรายได้ข้าว งวด1 อธิบดีกรมการค้าภายใน แจ้งว่า ธ.ก.ส. จะโอนเงินให้ 3 วัน ทำการ ทำไมยังไม่มีสักบาทเข้ามาเลย มีชาวนาหลายคนโทรมาต่อว่า กันมากมาย จะโอนให้เมื่อไรขอให้ชัดเจน อย่างน้อยถ้าจะไม่มีเงิน “ประกันราคาข้าว” ก็ขอให้เงินค่าช่วยช่วยเหลือชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 2 หมื่นบาท จ่ายมาก่อน จะได้เงินไปชำระหนี้ ใช้ซื้อปุ๋ย เพราะตอนนี้ราคาแพงมาก
สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอดในขณะนี้ราคาข้าวตกต่ำลงทุกชนิด ซึ่งเข้าใจว่าน่าจะต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทั้งนี้ทางสมาคมชาวนาได้ติดตามสถานการณ์ข้าว เข้าใจว่าสิ่งที่กระทบต่อราคาข้าวไทยหลักๆคือเรื่องของการส่งออก พวกค่าบรรทุก ตู้คอนเทนเนอร์ ที่มีปัญหาสืบเนื่องมาจากโควิด19
ทั้งนี้เดิมข้าวไทยราคาสูงกว่าเพื่อนบ้านมาก แต่ในขณะนี้ได้ปรับลงมาก และผลกระทบของราคาที่ปรับลงนี้ก็ กระทบต่อชาวนาที่กำลังเก็บเกี่ยวอยู่ในขณะนี้ค่อนข้างมาก อีกทั้งการเก็บเกี่ยวของชาวนาโดยปกติจะเป็นการเก็บเกี่ยวที่เป็นข้าวสดและนำไปขาย เป็นข้าวเกี่ยวสด คือข้าวที่มีความชื้นมาก
นายปราโมทย์ กล่าวว่า ในส่วนมาตรฐานความชื้นข้าวคือมีความชื้นที่ 15%) ชาวนาเกี่ยวข้าวสดที่ความชื้น 28-30% ก็จะถูกหักลดน้ำหนักความชื้น ซึ่งนี่ก็เป็นกฎเกณฑ์มาตรฐานของตลาด หากจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับเรานำผ้าชุบน้ำไปชั่งน้ำหนัก ก็จะได้น้ำหนักที่ต่างจากผ้าที่ตากแห้งแล้วนำไปชั่ง น้ำหนักส่วนที่หายไปก็คือน้ำหนักของน้ำ เหมือนข้าวเกี่ยวสดที่น้ำหนักที่เพิ่มเข้ามาคือน้ำหนักของน้ำ หากเอาไปตากให้น้ำออกไปจึงเหลือเป็นน้ำหนักแท้จริงของข้าว
ทั้งนี้ "โครงการประกันรายได้ข้าว" ของรัฐบาลที่มีประกาศจะจ่ายเงินให้กับชาวนา โดย "โครงการประกันรายได้" ก็เทียบฐานราคาข้าวเปลือกที่ความชื้นมาตรฐาน ที่ไม่เกิน 15% เช่นกัน ส่วนชาวนานั้นต่างก็เกี่ยวข้าวที่ความชื้นหลากหลาย คุณภาพแตกต่างกันไป ราคาจึงเป็นราคาเฉลี่ย ซึ่งรัฐบาลก็จะชดเชยส่วนต่างเหล่านี้ให้ผ่านทางโครงการประกันรายได้ซึ่งชาวนาก็รับทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว
โดยเรื่องของราคาก็คงจะเป็นเรื่องของกลไกตลาดที่ต้องรับรู้ แต่ภาครัฐก็น่าจะต้องเร่งดำเนินการโครงการประกันรายได้ให้เม็ดเงินถึงมือเกษตรเร็วที่สุด และเป็นไปตามที่รัฐได้ประกาศเป็นนโยบายไว้ เพราะข้าวที่จะขายไปต่างประเทศ ถ้าราคาสูงก็ขายไม่ออก เจอส่งออกการขนส่งก็มีปัญหา ค่าปุ๋ย ค่ายาราคาสูง น้ำท่วม ฝนแล้ง ชาวนาเป็นผู้แบกรับทั้งหมด รัฐบาลควรเร่งนโยบายที่ประกาศอย่างเร่งด่วน
"เพื่อให้ชาวนาอุ่นใจว่ายังมีรัฐบาลคอยดูแล และ ปัญหาเหล่านี้ชาวนาต้องปรับตัวในเรื่องของการลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต ปลูกข้าวตอบโจทย์ตลาด ตอบโจทย์ชาวนา ซึ่งภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาสนับสนุนอย่างเต็มที่และจริงจัง ในทุกด้านที่เป็นพื้นฐานของการเพาะปลูกข้าว"
สุดท้าย ขอฝากไปยังท่าข้าว จุดรวบรวมข้าว และ โรงสี ให้ความเป็นธรรมในการซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความชื้น การหักสิ่งเจือปน การชั่งน้ำหนัก และต้องให้ราคาที่ดีสำหรับชาวนาที่ทำข้าวได้ดีมีคุณภาพ