ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊กวันที่6พฤศจิกายน ระบุว่า แม้ว่าหน้าฝนปีนี้กำลังจะผ่านพ้นไป แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วยหลากหลายวิธียังคงต้องดำเนินการทุกปี หลายคนคงไม่รู้ว่าในกรุงเทพฯ มี “แก้มลิงใต้ดิน” แล้ว ซึ่ง กทม. เรียกว่า “บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank)” เปิดใช้แล้ว 2 แห่ง กำลังก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ “แก้มลิงใต้ดิน” แก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือ
บทบาทแก้มลิงใต้ดินมีอะไรบ้าง
1. “แก้มลิงใต้ดิน” มีบทบาทอย่างไร ?
ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังบ่อยๆ และไม่มีที่ว่างหรือบึงที่จะสร้างเป็น “บึงแก้มลิง” ได้ จำเป็นต้องสร้างแก้มลิงใต้ดินไว้เก็บน้ำฝนส่วนเกินที่ระบบระบายน้ำจะสามารถรองรับได้ เมื่อฝนหยุดตกและระดับน้ำในท่อระบายน้ำและคลองพ้นวิกฤตแล้ว จึงทยอยระบายน้ำออกสู่ท่อระบายน้ำ คู คลองต่อไป แก้มลิงใต้ดินช่วยลดน้ำท่วมขังในพื้นที่แคบๆ ได้ อีกทั้ง ด้านบนของแก้มลิงใต้ดิน อาจทำเป็นสวนสาธารณะหรือลานกีฬาก็ได้ เป็นการใช้แก้มลิงใต้ดินได้อเนกประสงค์
การจะสร้างแก้มลิงใต้ดินจะต้องคิดให้รอบคอบ ไม่ใช่คิดแค่เพียงแก้มลิงเท่านั้น แต่จะต้องออกแบบระบบน้ำเข้าออกแก้มลิง และระบบควบคุมน้ำในพื้นที่ที่ต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย
2. “แก้มลิงใต้ดิน” แห่งแรกในกรุงเทพฯ อยู่ที่ไหน ?
แก้มลิงใต้ดินแห่งแรกในกรุงเทพฯ อยู่ที่บริเวณ สน. บางเขน มีความจุ 1,000 ลูกบาศก์เมตร กทม. เลือกสร้างแก้มลิงใต้ดินที่จุดนี้เนื่องจากถนนพหลโยธินบริเวณวงเวียนบางเขน หน้า สน.บางเขน มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจํา ไม่สามารถหาพื้นที่สร้างบึงแก้มลิงได้ จึงตัดสินใจสร้างแก้มลิงใต้ดินขึ้นมา และได้เปิดใช้แล้วเมื่อปลายปี 2561
3. ยังมี “แก้มลิงใต้ดิน” ในกรุงเทพฯ ที่ไหนอีก ?
นอกจากแก้มลิงใต้ดินที่ สน. บางเขนแล้ว ยังมีแก้มลิงใต้ดินที่ปากซอยสุทธิพร 2 ถนนอโศก-ดินแดง มีความจุ 1,200 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้เปิดใช้งานแล้วเมื่อปลายปี 2562 นับว่าเป็นแก้มลิงใต้ดินแห่งที่ 2 ในกรุงเทพฯ
อีกทั้ง ยังมีแก้มลิงใต้ดินที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ใกล้จะแล้วเสร็จอีก 2 แห่ง ประกอบด้วยแก้มลิงใต้ดินรัชวิภา (ถนนรัชดาภิเษกตัดกับถนนวิภาวดีรังสิต) มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร และแก้มลิงใต้ดินใต้ทางแยกต่างระดับถนนศรีนครินทร์ตัดกับถนนกรุงเทพกรีฑา มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร
4. “แก้มลิงใต้ดิน” แก้น้ำท่วมได้จริงหรือ ?
เนื่องจากแก้มลิงใต้ดินเป็นแก้มลิงขนาดเล็ก จึงไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางได้ ยกตัวอย่าง หากต้องการให้แก้มลิงใต้ดินที่มีความจุ 10,000 ลูกบาศก์เมตร แก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร แก้มลิงนี้จะสามารถลดระดับน้ำบนถนนลงได้เพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น ถือว่าแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เลย ทางแก้ก็คือต้องสร้างแก้มลิงเพิ่มอีกหลายแห่ง หรือลดขนาดพื้นที่ที่ต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วมลง เช่น อาจให้เหลือพื้นที่เพียง 50,000 ตารางเมตรเท่านั้น ก็จะทำให้แก้มลิงนี้มีศักยภาพลดระดับน้ำบนถนนลงได้ถึง 20 เซนติเมตร
5. สรุป
การแก้ปัญหาน้ำท่วมขังด้วย “แก้มลิงใต้ดิน” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับกรุงเทพฯ เนื่องจาก กทม. มีแนวคิดนี้มานานแล้ว สมัยที่ผมดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. เมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ก็มีแนวคิดนี้เช่นเดียวกัน แต่ในขณะนั้นยังสามารถหาบึงสร้างเป็นบึงแก้มลิงได้ จึงไม่จำเป็นต้องสร้างแก้มลิงใต้ดิน
ผมขอชื่นชมผู้บริหาร กทม. ในปัจจุบันที่ไม่หยุดนิ่งกับการหาวิธีแก้ปัญหาน้ำท่วม และที่สำคัญ ได้ลงมือเปลี่ยนแนวคิดแก้มลิงใต้ดินให้เป็นรูปธรรม ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณแคบๆ ได้ หากเห็นว่าแก้มลิงใต้ดินคุ้มค่ากับการลงทุน ก็ขอให้ กทม. เดินหน้าเร่งสร้างแก้มลิงใต้ดินเพิ่มเติมต่อไป