นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า การประกันรายได้การปลูกข้าวเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นให้กับเกษตรกร โดยโครงการประกันรายได้การปลูกข้าวนาปี 64/65 ต้องใช้วงเงินสูง 89,000 ล้านบาท ซึ่งยอมรับว่ามีความเสี่ยง เมื่อราคาตลาดโลกปรับลดลง เช่น ประกันราคา 10,000 บาทต่อตัน หากราคาตลาดลดเหลือ 5,000 บาทต่อตัน รัฐบาลต้องมีภาระหนักเรื่องชดเชยส่วนต่างมากขึ้น ดังนั้นรัฐบาลควรที่จะต้องกำหนดเพดานการช่วยเหลือให้ชัดเจน สามารถช่วยเหลือได้เท่าไร เพื่อให้ชาวนากำหนดพื้นที่ปลูกเหมาะสม
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกร ต้องมุ่งเพิ่มมูลค่าการผลิต การลดต้นทุน ปรับโครงสร้างการผลิต การตลาด ทั้งวงจร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับชาวนา เนื่องจากปัจจุบันรายได้ตกอยู่กับพ่อค้าคนกลาง ผู้ส่งออก จึงต้องหันมาใช้งานวิจัย การพัฒนา พัฒนาระบบปลูกข้าว เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมมูลค่าสูง การพัฒนาพันธุ์ข้าว เมื่อชาวนาได้ประโยชน์จะช่วยลดภาระงบประมาณเรื่องการชดเชยราคา
"การจำนำข้าว รัฐเป็นเจ้าของข้าวที่เกษตรกรนำมาจำนำ จากนั้นจะนำข้าวมาเก็บไว้ในโกดัง โดยมีข้าวอยู่ในมือรัฐบาล แต่มีความเสี่ยงเรื่อง ทุจริต การรั่วไหล เพราะรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในทุกขั้นตอน ทั้งประมูลขายข้าว จัดเก็บข้าว ขณะที่โครงการประกันรายได้ รัฐไม่ต้องเก็บข้าวเอาไว้ แต่ข้อมูลต้องแม่นยำ เรื่องการกำหนดราคารับซื้อ และประเมินทิศทางตลาด ไม่เช่นนั้น ต้องใช้เงินจำนวนมากมารองรับ"
นายจรินทร์ เจริญศรี นักวิชาการประจำหลักสูตร มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลประกาศโครงการประกันรายได้ข้าวนาปี 64-65 ต้องใช้เงิน 89,000 ล้านบาท การปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงคงทำได้ยาก เพราะชาวนา คงไม่ยอม
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของโครงการคงไม่ยอมเช่นเดียวกัน หนทางเดียว คือ เดินหน้ากู้เงินมารองรับโครงการดังกล่าว โดยต้องยอมขยับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มเติม มองว่าแนวทางดูแลราคาเป็นปัญหาระยะสั้น แต่สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนภายใน 1 ปี คือ การพัฒนาการปลูกข้าว นำเทคโนโลยี พัฒนาพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด
อย่างไรก็ดี หากมองดูประเทศคู่แข่ง จีน เวียดนาม อินเดีย โดยจีนปลูกข้าว โดยใช้เทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาได้ผลผลิต 1,400 กิโลกรัมต่อไร่ มากกว่าไทย 3 เท่า ผลิตได้ 400 กิโลกรัมต่อไร่ การดูแลการปลูกข้าวครบวงจร ไทยจึงต้องหันมาทำแบบประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยเหลือระยะสั้นอย่างเดียวคงไม่ได้