นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาจากนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. จังหวัดพิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล ประเด็นปัญหาราคาข้าว ต้นทุนการผลิตและการประกันราคาข้าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 3 ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ที่ รัฐสภา เกียกกาย ว่า ที่ท่านเริ่มต้นด้วยการบอกว่าตนไม่มาตอบกระทู้หลายครั้งไม่เป็นความจริง ตนมาตอบทุกครั้งยกเว้นพฤหัสฯที่แล้ว ที่ตั้งกระทู้ถามสด
ขณะที่ตนต้องประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษ เพราะท่านนายกเลื่อนมาและขนาดเดียวกัน นโยบายหรือโครงการประกันรายได้เกษตรกรเข้า ครม. ตนต้องชี้แจงไม่สามารถมาตอบกระทู้ได้ แต่บอกไว้แล้วว่าสัปดาห์นี้ถ้าท่านจะถาม ตนยินดีจะตอบ ในอดีตที่ผ่านมาท่านประธานคงจำได้ ตรมาตอบ 3 กระทู้ในวันเดียวกันตนก็ยินดีมาตอบและตอบไปแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องไม่มาตอบกระทู้ ขอความกรุณาได้เกิดความเข้าใจด้วย
ประเด็นที่สอง ที่ท่านบอกว่าเรื่องข้าวไม่จำเป็นต้องพูดถึงความชื้น จะเกิดความเข้าใจผิดเพราะราคาข้าวขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้นซึ่งเป็นมาตรฐานทั่วไป ถ้าเราไม่พูดถึงความชื้นสุดท้ายเกษตรกรจะผลิตข้าวมีความชื้นเท่าไหร่ ชื้นมาก คือ มีน้ำผสมอยู่ด้วย ถ้าชื้นหนักคือมีน้ำอยู่มากเอาไปขายราคาเดียวกับข้าวแห้งซึ่งความชื้นต่ำมาตรฐานจะไม่มี สุดท้ายจะเป็นการทำให้เกษตรกรหันไปทำข้าวที่มีคุณภาพแตกต่างกัน ซึ่งรัฐบาลไม่ประสงค์ให้เป็นอย่างนั้น ตนเชื่อว่าท่าน ส.ส.ก็ไม่ประสงค์ จะเห็นอย่างนั้น การพูดถึงความชื้นเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และการจะมาพูดเรื่องราคา ณ ความชื้นหนึ่งกับราคาข้าวแห้งที่ความชื้นมาตรฐาน มาเทียบกันไม่ได้ ขออนุญาตทำความเข้าใจ
ความชื้นมาตรฐานของข้าวอยู่ที่ความชื้นไม่เกิน 15% จะเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ ถ้าท่านบอกว่าราคาข้าวตกแค่ 5,000-6,000 บาท คือความชื้น 30% คือข้าวเปียก ช่วงนี้น้ำท่วมฝนตกเกี่ยวแล้วขายเลย แน่นอนว่าข้าวก็บวกน้ำ ความชื้น สิ่งเจือปนมาบ้าง เมื่อเทียบเป็นราคาความชื้นที่ไม่เกิน 15% เช่น สมมุติราคาข้าวเปียก 6,000 บาท ราคาข้าวแห้งมาตรฐานจะไปที่ 7,700 บาท มีตารางมาตรฐานที่มีการคิดคำนวณชัดเจน เบื้องต้นขอทำความเข้าใจตรงนี้ก่อน
ในเรื่องของเงินที่ท่านถามตนเมื่อสักครู่ ว่างวดนี้จะได้เมื่อไหร่ งวดต่อไปจะได้เมื่อไหร่ ขออนุญาตเรียนว่าประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีทั้งหมด 33 งวด ตั้งแต่งวดที่ 1 ไปงวดที่ 2 สัปดาห์ละ 1 งวดไปทุกสัปดาห์ การที่คำนวณว่ารายได้ที่ประกัน เช่น ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท การคำนวนราคาตลาดเกิดจากค่าเฉลี่ยมีสูตรคำนวนชัดเจน ณ ความชื้น 15% คือข้าวแห้ง สมมุติขายได้ 7,500 บาทประกันรายได้ที่ 10,000 บาท ส่วนต่างจะเท่ากับ 2,500 บาท เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายข้าวบวกเงินส่วนต่างรวมเป็น 10,000 บาทตามรายได้ที่ประกัน งวดที่ 1 ได้จ่ายไปแล้ว วันที่ 9 พ.ย. งวดที่ 2 จ่ายแล้ววันที่ 10 พ.ย. โดน 2 งวดนี้จ่ายไปแล้วประมาณ 13,000 ล้านบาท
งวดต่อไปเป็นงวดที่ 3 และงวดที่ 4 ก็ไปอีกหนึ่งสัปดาห์ ส่วนงวดต่อไปเป็นเงินเท่าไหร่ จะขึ้นอยู่กับราคาตลาดที่เป็นจริงมีสูตรคิดคำนวณก่อนจ่าย ประมาณ 3 วัน และขอเรียนให้ท่านได้รับทราบการจ่ายเงิน 2 งวดที่ผ่านมา เมื่อสักครู่ตนอยู่กับผู้จัดการใหญ่ ธ.ก.ส. ท่านบอกว่าทุกอย่างเรียบร้อยไม่มีปัญหาจ่ายหมดแล้ว ยกเว้นบางรายเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องการตรวจสอบสิทธิ์ว่าซ้ำซ้อนไหมหรือเกิดปัญหาคลาดเคลื่อนบางข้อเท่านั้น ถ้าทุกอย่างเรียบร้อยจะโอนเข้าบัญชีโดยตรง จะโกงไม่ได้
ขอเรียนว่าเฉพาะงวด 1 กับงวด 2 เกษตรกรได้เงินส่วนต่างเยอะมาก เฉพาะเงินส่วนต่างสูงสุดที่ตนให้คำนวณมาดู เพื่อจะได้เห็น โดยประกันรายได้ข้าว 5 ชนิด 1.ข้าวหอมมะลิ 2.ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 3.ข้าวหอมปทุม 4.ข้าวเจ้า 5.ข้าวเหนียว เฉพาะเงินส่วนต่างเกษตรกรที่ได้สูงสุด ข้าวหอมมะลิ 2 งวดนี้ ได้สูงสุด 57,826 บาท ต่อครัวเรือน หอมมะลินอกพื้นที่ สูงสุดได้ 59,506 บาท ข้าวหอมปทุม 26,305 บาท ข้าวเปลือกเจ้า สูงสุด 58,038 บาท และข้าวเหนียว ได้มากที่สุด 69,580 บาท
ท่านจะได้สบายใจว่านโยบายประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว นอกจากจะเกษตรกรจะมีรายได้จากการเอาข้าวไปขายในตลาด ตามราคาตลาด ณ ความชื้น 15% แล้ว ยังมีก้อนที่ 2 คือ เงินส่วนต่างที่มาช่วยเติมเต็มทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้ตามรายได้ที่ประกัน ส่วนงวดที่ 3 ที่ 4 จะถัดไปเป็นสัปดาห์จนครบ 33 งวด ซึ่งพบปัญหาน้อยมาก สำหรับการโอนเงินของ ธ.ก.ส. ขอขอบคุณ ธ.ก.ส.ด้วย
ประการที่หนึ่ง ตนไม่อยากให้พูดประชดประชันว่าตนพูดเหมือนข้าราชการประจำ ตนไม่อยากให้ดูถูกข้าราชการประจำ และตนจะพูดเหมือนข้าราชการประจำหรือไม่เหมือนก็ตาม ขอเรียนว่าตนพูดตามข้อเท็จจริง ถ้าเป็นข้อเท็จจริงจะเป็นข้าราชการประจำหรือข้าราชการการเมืองอย่างผมหรือผู้แทนราษฎรทั้งสภาก็ต้องพูดภาษาเดียวกัน และต้องพูดคำเดียวกัน ในเหตุผลเดียวกัน เพราะเราพูดบนพื้นฐานของความเป็นจริง ตรงไปตรงมา และตนกราบเรียนว่าตนพูดตรงไปตรงมา พูดตามข้อเท็จจริง
ประการที่สอง ที่ท่านบอกว่าเกษตรกรร้องไห้ตนไม่ไปเถียงท่าน แต่เงินส่วนต่างวันที่ 9-10 พ.ย.เกษตรกรดีใจมากที่ได้รับเงินส่วนต่าง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดไหนที่ปลูกข้าว มีภาพปรากฏชัดว่าทุกคนดีใจ เอาบัญชีมาโชว์กันและขอกราบเรียนว่า สำหรับเกษตรกรที่น้ำท่วมนอกจากท่านจะได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล ที่กระทรวงมหาดไทยจะเป็นต้นเรื่องท่านยังจะได้เงินส่วนต่างจากประกันรายได้ด้วย แม้ข้าวของท่านจะเสียหายทั้งหมดก็ตาม เพราะได้ขึ้นทะเบียนไว้ล่วงหน้าแล้วและมีการตรวจสอบแล้วว่าปลูกข้าวจริง ได้รับเงิน 2 ก้อน ชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ประสบภัยน้ำท่วม
ประการต่อมา คำพูดที่ท่านเอาคำพูดของใครก็ไม่ทราบ มาบอกว่า ประกันรายได้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรอ่อนแอ ตนคิดว่าตรงข้าม ประกันรายได้เกษตรกรไม่ว่าจะข้าวมัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด ช่วยให้เกษตรกรยังชีพอยู่ได้ และมีโอกาสลืมตาอ้าปากและเข้มแข็ง เพราะทันทีที่ท่านปลูกพืชที่มีการประกัน ท่านมีหลักประกันในเรื่องรายได้ไม่ต้องฝากโชคชะตาไว้กับราคาอย่างเดียว ซึ่งมีโอกาสตกต่ำผันผวนได้ ยามใดที่ราคาพืชเกษตรตัวนั้นสูงกว่ารายได้ที่ประกัน ท่านเอาเงินไปทั้งหมด 100% ที่ขายได้ แต่ยามใดที่ราคาตก รายได้จะไม่ลดเพราะเอาไปขายในตลาดได้ราคาต่ำแต่มีเงินส่วนต่างไปสมทบให้ จนมีรายได้ตามรายได้ที่ประกัน ไม่ได้ทำให้เกษตรกรอ่อนแอ แต่เห็นด้วยว่าการแก้ปัญหาต้องไม่ทำเฉพาะประกันรายได้ต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาช่วยเสริมระยะยาว
ตนไม่ทราบว่าท่านเคยไปอ่านยุทธศาสตร์ข้าวหรือเปล่า วันนี้ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ข้าวไทยแล้ว เริ่มต้นปี 63-67 เป็นเวลา 5 ปี เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว มีอนาคตที่สดใสในระยะยาว 1.ลดต้นทุนการผลิต จากปัจจุบันไร่ละ 6,000 บาทให้เหลือ 3,000 บาท ภายใน 5 ปี 2.ผลผลิตปัจจุบันเฉลี่ย ไร่ละ 465 กิโลกรัม ต้องทำให้ได้ 600 กิโลกรัมต่อไร่ 3.เราขาดพันธุ์ข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้ไปแข่งในเวียดนามไม่ได้
สู้หลายประเทศไม่ได้ เพราะพันธุ์ข้าวมีความหลากหลายพัฒนาเร็วมาก จึงกำหนดว่าต้องเพิ่มพันธุ์ข้าวอย่างน้อย 12 พันธุ์ 1.ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ 2. ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ 3. ข้าวหอม 2 พันธุ์ 4.ข้าวโภชนาการสูงอีก 2 พันธุ์เริ่มดำเนินการแล้ว ไม่กี่วันมานี้ตนไปชัยนาทตรวจแปลงข้าวที่ประกวด คัดพันธุ์ที่มีคุณภาพป้อนตลาดโลกต่อไปในอนาคต คาดว่าจะได้ 3 พันธุ์ ในการประกวดครั้งนี้ สร้างอนาคตระยะยาวให้ข้าวไทยแข่งขันระดับโลกและต่อไปเป็นหน้าที่ของหน่วยปฏิบัติที่ต้องปฏิบัติ
ส่วนตนกับรัฐมนตรีคลัง ไม่ได้มีความปัญหาอะไรกัน เราทำงานอยู่ในรัฐบาลเดียวกันนโยบายประกันรายได้ ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด ตนเรียนตรงนี้ว่า เป็นนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ แต่ใช่ว่าอยู่ๆจะเอามาทำงานในรัฐบาลได้ ประชาธิปัตย์พูดชัดก่อนร่วมรัฐบาล ว่าถ้ารัฐบาลจะให้ประชาธิปัตย์เข้าร่วม ขอให้นำนโยบายประกันรายได้ของประชาธิปัตย์เป็นนโยบายรัฐบาลสุดท้ายเจรจากับพรรคแกนนำและท่านยอมรับให้เป็นนโยบายรัฐบาล วันนี้เป็นนโยบายรัฐบาล
ท่านจะบอกว่ารัฐมนตรีคลังจะไม่ทำ รัฐมนตรีนู้นนี้จะไม่ทำ ขอภัยถ้าเกินเลย ท่านไม่ต้องกังวล เป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว ทุกท่านมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล และผลักดันนโยบายรัฐบาล ส่วนท่านบอกว่าจะเป็นภาระงบประมาณไม่มีวันจบสิ้น มีโครงการไหนที่ไม่ต้องใช้งบประมาณก็เป็นภาระงบประมาณทั้งนั้น แต่เป็นภาระงบประมาณแล้วเป็นประโยชน์กับเกษตรกร เป็นประโยชน์กับชาวนาหรือเปล่า หายหกตกหล่นหรือเปล่าอยู่ตรงนั้น และตนยืนยันว่าไม่มีหายหกตกหล่นเพราะโอนเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ท่านไม่ต้องกังวลตรงนี้
วันที่ 26 พ.ย.ตนก็จะไปงานเลี้ยงและไม่ได้ไปกินข้าว เพื่อเยาะเย้ยชาวนาแต่เป็นเรื่องที่จะไปพบปะกัน นอกจากพบกันในสภาเพื่อให้ทำหน้าที่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชนได้มากขึ้น นอกจากการพบกันในสภาอย่างเดียว
1.เรื่องปุ๋ยกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่ขอความร่วมมือกับผู้นำเข้า 19 ราย จัดโครงการปุ๋ยราคาถูก ร่วมจากกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์และผู้นำเข้าปุ๋ยจัดปุ๋ยได้ 4,500,000 กระสอบ ขายถูกกว่าท้องตลาด 20-50 บาทต่อกระสอบ มีปุ๋ยทั้งหมด 84 สูตร และสั่งซื้อในรูปสหกรณ์ กลุ่มสหกรณ์ หรือรวมกลุ่มกันซื้อ ซื้อรายบุคคลไม่ได้เพราะเป็นไปตามท้องตลาด ให้สั่งซื้อจากสหกรณ์จังหวัด สหกรณ์อำเภอ หรือเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งขายไปแล้ว 2,300,000 กระสอบ เหลืออีก 2,200,000 กระสอบ เกษตรกรที่สนใจกรุณาประสานงานผ่าน 3 หน่วยงาน จะเป็นประโยชน์กับท่านมาก
2.ที่ท่านถามว่าทำไมไม่ของบเพิ่มเติม ซึ่งกำลังดำเนินการของบเพิ่มเติมในการช่วยเสริมโครงการปุ๋ยราคาถูก จะให้กระทรวงเกษตรฯเป็นผู้ดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องของการลดต้นทุนเกษตรกร มีวงเงินอยู่และประมาณ 500-900 ล้านบาท
ในเรื่องคำถามมาตรการช่วยระยะยาว ตนเรียนว่า ยุทธศาสตร์ข้าวไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่เป็นทางการ ต้องเดินหน้าไปตามนั้น เป็นหน้าที่ภาคปฏิบัติที่ต้องทำให้ได้ตามเป้าหมายและที่สำคัญตั้งแต่ตนเข้ามาดูแลกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรฯโดยท่านรัฐมนตรีเฉลิมชัย ศรีอ่อน เรามีโครงการทำร่วมกันภายใต้วิสัยทัศน์ “เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด” ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” ในเรื่องการผลิตข้าวคุณภาพกระทรวงพาณิชย์ทำตลาดขายข้าวได้เกือบ 100,000 ล้านบาทใน 9 เดือนแรก คือ เงินเข้าประเทศที่จะทำโครงการต่างๆย้อนกลับไปช่วยชาวนา รวมทั้งประกันรายได้เกษตรกรที่ท่านวิจารณ์อยู่เมื่อสักครู่ คล้ายกับกระทรวงของญี่ปุ่นที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมเอากระทรวงอุตสาหกรรมมาบวกกับกระทรวงตลาดกระทรวงพาณิชย์เป็นมิติ (กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม Ministry of Economy, Trade and Industry หรือ METI) ของเราเอากระทรวงเกษตรฯ เพราะพื้นฐานประเทศเราเป็นประเทศเกษตรกรรม บวกกับตลาด คือพาณิชย์ เป็น เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดเป็นการคิดเชิงยุทธศาสตร์ เชิงนโยบาย เพื่อช่วยเกษตรกรระยะยาวต่อไป