ภายหลังนิวซีแลนด์ส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพการประชุมเอเปค ในปี 2565 เมื่อวันที่13 พฤศจิกายน 2564 มีพิธีรับมอบตำแหน่ง การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 ของไทย APEC 2022 THAILAND โดยไทยเตรียม ชะลอม เป็นของที่ระลึกกับผู้นำประเทศ
ชะลอม เป็นเครื่องจักสานที่สานขึ้นจากตอกไม้ไผ่บางๆ มีหูหิ้ว ประโยชน์ใช้สอย ใช้เป็นภาชนะใส่ผักผลไม้และสิ่งของต่างๆ ประวัติความเป็นมา ชะลอมสานแบบตาเฉลวหกเหลี่ยมตาห่าง มักจะทําเป็น รูปทรงกระบอกแล้วรวบตอกที่ปากมัดเข้าด้วยกันเพื่อหิ้ว การสานชะลอมขึ้นมาใช้ นอกจากจะทําเป็นภาชนะ ใส่ของที่มีความคงทนแข็งแรงแล้ว รูปทรงและลายสานที่สวยงามของชะลอมยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของ มรดกทางวัฒนธรรมอีกด้วย
"ชะลอม" เป็นตราสัญลักษณ์สื่อถึงประเพณีและวิถีชีวิตชุมชนไทย สื่อถึงการร่วมสานพลังและจุดแข็งที่หลากหลาย ร่วมมือเพื่อสร้างภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เข้มแข็ง ยืดหยุ่น ครอบคลุม และยั่งยืน นอกจากนี้ ชะลอมยังเป็นสัญลักษณ์ของการค้า การเดินทางในสังคมไทยในอดีตถึงปัจจุบันยังใช้อยู่
เมื่อพิจารณาเส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น เหนียวแน่นและคงทน โอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาคให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” หากแต่เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค
"ชะลอม"สื่อหัวข้อหลัก “OPEN, CONNECT, BALANCE” ของการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทย ได้แก่
OPEN - ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง
CONNECT - ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง
BALANCE – ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy- BCG)
สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุล ระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม ตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2565 ของไทยซึ่งเป็นผลงานของ ชวนนท์ วงศ์ตระกูลจงนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ชะลอม ซึ่งเป็นเครื่องจักสานไทยที่ใช้ใส่สิ่งของ ในการเดินทางหรือนำไปมอบกับบุคคลที่เคารพในสังคมไทย จากรุ่นสู่รุ่น