นาย ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ เปิดทำการวิเคราห์เศรษฐกิจปี2564-2565 ซึ่งแยกออกเป็น 3 สมมุติฐาน คือ กรณีฐาน (Base) จากการเปิดเมืองและเปิดธุรกิจไม่ได้ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจนเกินกว่าระบบสาธารณะสุขรองรับได้ จะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัว 1.5% ปีหน้ามีโอกาสขยายตัว 4.2% เคสนี้มีโอกาสเกิดถึง 65%
กรณีที่แย่กว่า (Worse case) คือ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในในบางพื้นที่ภายหลังจากการเปิดเมือง และเปิดธุรกิจ จนต้องใช้มาตรการควบคุมแบบเข้มงวด ซึ่งอาจจะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ 1.3% ปีหน้าถ้าคนติดเชื้อยังสูง หรือราคาน้ำมันแพงมาก จีดีพีปีหน้าอาจจะลดลง 3.6% และ กรณีที่ดีกว่า Better case คือรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงปลายปี 2564 ใช้วงเงิน 30,000- 40,000 ล้านบาท ซึ่งอาจจะทำให้จีดีพีปีนี้ขยายตัวได้ถึง 1.7% และปีหน้าขยายตัวเพิ่มไปถึง 4.5%
อย่างไรก็ตามปีนี้มีมั่นใจว่าโอกาสที่จีดีพีจะเติบโตตามกรอบ 1.5% ภายหลังจากเมื่อมีการเปิดประเทศ และการใช้มาตรการต่างๆช่วยเติมเม็ดเงินพิเศษเข้ามาในเศรษฐกิจ 2.5 -3.0 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้เม็ดเงินจากการเปิดประเทศซึ่งนับให้ตั้งแต่ ต.ค.-ธ.ค. ประมาณ 130,000-150,000 ล้านบาท จากนักท่องเที่ยว 2 แสนคน การเติมมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 อีก 45,000 ล้านบาท และมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมที่รัฐบาลช่วยอีก 50,000-90,000 ล้านบาท
“ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 /2564 ขยายตัว 2.1% จากกรอบประมาณการณ์ 2-3% ซึ่งอาจเรียกว่าปีนี้ไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 นับจากันยายน – ตุลาคมเช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจต่างชาติ ดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรด ซึ่งเป็นผลจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ เปิดประเทศและมีการจัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดการติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง และการฉีดวัคซีนเร็วขึ้น”
นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สำหรับปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจในปีหน้าจากจำนวนการฉีดวัคซีน ดีกว่าเป้าหมายคาดว่าจะครบ 70% ในเดือนธันวาคม 2564 และจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง การประกาศเปิดประเทศและผ่อนคลายการทำธุรกิจให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวภายหลังจากการคลายล็อกดาวน์ ภาครัฐมีการออกมาตรการเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของภาครัฐเร่งตัวดีขึ้น และความเสี่ยงจากสถานการภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2565 มีแนวโน้มลดลง
ปัจจัยลบที่ยังต้องติดตาม มีเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อและยาวนานทำให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อาจใช้เวลา 5 ปีในการแก้ไขปัญหา ธนาคารกลางของประเทศมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจจีนมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น จากวิกฤตพลังงาน ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น และปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์