“แมลงทอด” ไม่ว่าจะเป็น หนอนรถด่วน ด้วงสาคู ดักแด้ไหม ตั้กแตนทอด หรือแม้แต่จิ้งหรีดทอด นับว่าเป็นเทรน์อาหารทางเลือกที่มาแรงและเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบของแปลกทั้งคนไทยและคนต่างชาติ เพราะเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคต ซึ่งโปรตีนสูงกว่าเนื้อวัว หมูและไก่แล้ว การเพาะเลี้ยงแมลงยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เนื่องจากใช้พื้นที่ น้ำ และอาหารในการเพาะเลี้ยงไม่มาก แถมยังปล่อยก๊าชคาร์บอนไดร์ออกไซด์น้อยกว่าหลายเท่าตัว และแมลงที่ได้รับความนิยมขณะนี้ คือ “จิ้งหรีด (Cricket)” หนึ่งในแมลงอุตสาหกรรมของไทย
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค.กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการวิเคราะห์สินค้าที่จะมาแรงในปีหน้า เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและของผู้บริโภคยุคใหม่ ประกอบกับสินค้าที่ไทยมีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตในตลาดโลก ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy)ของไทย
ดังนั้นอาหารทางเลือก โดยเฉพาะโปรตีนจากจิ้งหรีดที่ หลาย ๆ ประเทศเริ่มให้ความสนใจกับโปรตีนจากแมลงอย่างแพร่หลาย ซึ่ง เป็นโอกาสสำหรับไทย ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดในเชิงพาณิชย์มาหลายปี
แต่ยังพบปัญหา 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดที่ไม่ได้มาตรฐาน จึงเป็นอุปสรรคสำหรับการส่งออก และการไม่มีตลาดที่แน่นอน การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปยังไม่แพร่หลายนัก ส่วนตลาดในต่างประเทศ มาตรฐานและกฎระเบียบยังไม่ชัดเจนนัก และการบริโภคแมลงเพิ่งเริ่มเป็นกระแสจึงยังเป็นตลาดเฉพาะที่มีผู้บริโภคในวงจำกัด
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งส่งเสริมการเพาะเลี้ยง/การผลิตที่ได้มาตรฐาน รวมถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตลอดจนการทำการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค เพื่อเพิ่มความต้องการบริโภค
อย่างไรก็ตามแม้ว่า ตลาดโปรตีนแมลงยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ในตลาดต่างประเทศได้เปิดกว้างและเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคเป็นส่วนใหญ่ ในสหรัฐคาดว่ามูลค่าทางการตลาดมีกว่า 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งธุรกิจแมลงนับเฉพาะแมลงที่คนกินได้ทั่วโลกมีมูลค่าถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12,800 ล้านบาท โดยเอเชียเป็นตลาดหลักมีสัดส่วนประมาณ 30-40% ของทั้งโลก เห็นอัตราการเติบโตของตลาดแมลงเช่นนี้ น่าจะมีช่องว่างให้ผู้ประกอบการไทยที่มีนวัตกรรมและสินค้าอยู่ในมือได้เข้าไปเจาะตลาดได้ไม่ยากเพราะตลาดยังคงเป็นของผู้บริโภค