อาหารสัตว์วอนรัฐกำหนด GAP เป็นมาตรฐานบังคับขั้นต่ำ ผลิตสินค้าเกษตรไทย

18 พ.ย. 2564 | 14:12 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2564 | 21:27 น.

สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กำหนด GAP มาใช้เป็นมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำของการเกษตรไทย มุ่งยกระดับคุณภาพพืชเศรษฐกิจหลักและวัตถุดิบอาหารสัตว์ของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างเสถียรภาพราคาตอบโจทย์ความต้องการด้านการผลิตอย่างยั่งยืนของผู้บริโภค

 

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เผยว่า  ในฐานะที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารชั้นนำของโลก จำเป็นต้องกำหนดให้แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP)  เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการผลิตสินค้าเกษตรซึ่งเป็นต้นทางและพื้นฐานสำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตรหลักหลายรายการ เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์อาหารปลอดภัยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก

 

ปัจจุบันผู้บริโภคและประเทศผู้ซื้อในต่างประเทศมีกฎระเบียบด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดมาประกอบการตัดสินใจในการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น เช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้แน่นอน เป็นต้น

 

อาหารสัตว์วอนรัฐกำหนด GAP เป็นมาตรฐานบังคับขั้นต่ำ ผลิตสินค้าเกษตรไทย

 

ทั้งนี้สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เรียกร้องรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง ขอให้มีมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำของภาคการเกษตรไทย โดยเฉพาะ GAP เพื่อยกระดับมาตรฐานการทำการเกษตรทั้งระบบ ตั้งแต่พัฒนาระบบการดูแล ควบคุม และตรวจสอบคุณภาพการเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง การแปรรูป การผลิต การจัดจำหน่าย จนถึงผู้บริโภค ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีและปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สอดคล้องตามมาตรฐานโลก

 

นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า การพัฒนาต้นทางวัตถุดิบเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ถั่วเหลือง ข้าว ต้องพิจารณาและดำเนินการเร่งด่วน เพื่อสร้างพื้นฐานที่ดีในการผลิตอาหารที่ดีและเสถียรภาพด้านราคาของวัตถุดิบในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของเกษตรกรในการพัฒนาผลผลิตคุณภาพดีและมีต้นทุนที่แข่งขันได้ ลดการพึ่งพาและความเสี่ยงจากการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศ และประหยัดงบประมาณแผ่นดินในโครงการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร 

 

อาหารสัตว์วอนรัฐกำหนด GAP เป็นมาตรฐานบังคับขั้นต่ำ ผลิตสินค้าเกษตรไทย

 

“ปัจจุบัน GAP เป็นเพียงแนวปฏิบัติที่ทำด้วยความสมัครใจ  ไม่ได้กำหนดเป็นมาตรฐานภาคบังคับขั้นต่ำ การพัฒนายังอยู่ในวงจำกัด ผลผลิตต่ำและต้นทุนสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ที่สำคัญวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการต้องนำเข้าภายใต้มาตรการทางภาษีและไม่ใช่ภาษี ทำให้ราคาวัตถุดิบไม่มีเสถียรภาพเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อไปยังอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ภาคปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร มีผลให้ผู้ใช้ต้องหันไปหาวัตถุดิบชนิดอื่นทดแทน เช่น ข้าวสาลี ปลายข้าว DDGS (Dried Distillers Grains with Solubles ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากขบวนการผลิตเอทานอลด้วยข้าวโพด)

 

อาหารสัตว์วอนรัฐกำหนด GAP เป็นมาตรฐานบังคับขั้นต่ำ ผลิตสินค้าเกษตรไทย

 

สำหรับวัตถุดิบอาหารสัตว์ คิดเป็นต้นทุนการผลิตประมาณ 60% ของการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งข้าวโพดเป็นหนึ่งในส่วนผสมสำคัญทั้งของอาหารสุกรและสัตว์ปีก ขณะที่ราคามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตขยับตามกลไกการตลาดและมีผลต่อราคาเนื้อสัตว์โดยตรง

 

จากผลการศึกษานโยบายทางการค้าสาหรับวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสมของประเทศไทย ของนักวิชาการ จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเสนอต่อกระทรวงพาณิชย์ ยกเรื่องมาตรฐาน GAP เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาผลผลิตในประเทศขาดแคลน ยกระดับมาตรฐานการผลิตและราคา ควบคู่กับการจัดระบบการนำเข้าวัตถุดิบและวัตถุดิบทดแทนที่เป็นธรรมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในอนาคต