นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (S-Curve) ที่รัฐบาลมุ่งเน้นในการเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth ) โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีอัตราการส่งออกเติบโต 22.2% หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 มูลค่า 24,988 ล้านบาท
และทั้งปี 2564 คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตจากการส่งออกอยู่ที่ 29.6% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 205,664 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้เข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์
รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 และการที่สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ หรือ Complete Aged Society ในปี 2564 จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ความต้องการสินค้าและเครื่องมือแพทย์เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพของไทยมีความโดดเด่น มีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก และยังเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชน ตอบโจทย์ Digital Healthcare ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งดำเนินการจัดทำแผนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาโดยเร็ว
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการที่จะมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าว ได้แก่ 1.ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ที่มุ่งเน้น ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน ภายในปี 2570 โดยจะพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นคงภายในประเทศ ยกระดับเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม คุณภาพและมาตรฐานเครื่องมือแพทย์ในระดับสากล
ซึ่งจากการศึกษาปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ได้แก่ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและการแพร่ระบาดของโรคระบาดสายพันธุ์ใหม่ รวมไปถึงแนวโน้มทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น IoT, 5G, AI, Machine Learning ทำให้เกิดแนวโน้มการพัฒนาเครื่องมือแพทย์เพื่อตอบสนองตลาดและเทคโนโลยีเป้าหมายในดังกล่าว เช่น การรักษาแบบ Telemedicine หรือ Telehealth ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์กลุ่มนี้ มีศักยภาพที่จะได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้เกิดการผลิตเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ซึ่งจะตอบสนองต่อการเป็น Smart Hospital และเป้าหมายการเป็น Medical Hub ของประเทศไทยในที่สุด
2.ร่างแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอุปกรณ์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอาเซียน โดยมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2570 โดยจะยกระดับ Supply Chain ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดิมไปสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะทั้งระบบ ผ่าน 3 มาตรการหลัก คือ
มาตรการที่ 1 ยกระดับศักยภาพการแข่งขัน โดยการสร้างนวัตกรรมและมูลค่าเพิ่มด้วยการดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมการเชื่อมโยงอุปทานอย่างครบวงจร และส่งเสริมการผลิตด้วยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่
มาตรการที่ 2 กระตุ้นอุปสงค์เพื่อสร้างตลาดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ โดยในระยะแรกจะเน้นพัฒนาในกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ Smart Home, Smart Factory, Smart Hospital & Health และ Smart Farm ผ่านการสนับสนุนให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กระตุ้นการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
และมาตรการที่ 3 สร้างและพัฒนา Ecosystem ของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ทั้งการพัฒนาบุคลากรด้าน Smart Electronics ให้ยกระดับเป็น Smart Developer ที่สามารถออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ ติดตั้งและทดลองระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ในกลุ่ม Smart Hospital ด้วย
"สศอ.เป็นหน่วยงานจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย กำลังเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการส่งเสริมการเป็น Smart Hospital ของประเทศไทย"