"สามารถ ราชพลสิทธิ์ " ย้ำ อย่าเท ! ผู้โดยสารรถไฟ แบกต้นทุนค่าโดยสารพุ่ง6เท่า

28 พ.ย. 2564 | 02:24 น.
อัปเดตล่าสุด :28 พ.ย. 2564 | 09:43 น.

"สามารถ ราชพลสิทธิ์ ออกโรงเตือน กระทรวงคมนาคม -รฟท.อีกรอบ "อย่าเท !ผู้โดยสารรถไฟ"กับ 7ข้อ ปมหยุดเดินรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อ หยุดเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพง เทกระจาดประชาชนใชนผู้ใช้ทางต่อรถไฟฟ้าแท๊กซี่ ต้นทุนเพิ่ม 6.7เท่า เมื่อเทียบรถไฟ

 

 

กระแสต่อต้านการหยุดเดินรถเข้าสถานีรถไฟกรุงเทพหรือหัวลำโพง ตามนโยบาย ของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่การกระทรวงคมนาคม มอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท)ดำเนินการ  ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่28 พฤศจิกายน ว่า หากกระทรวงคมนาคมห้ามไม่ให้รถไฟวิ่งเข้า-ออกหัวลำโพง ค่าเดินทางของผู้โดยสารรถไฟชานเมืองจากรังสิต-หัวลำโพง จะพุ่งกระฉูดจาก 6 บาท เป็น 46 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 6.7 เท่า เป็นภาระหนักของผู้หาเช้ากินค่ำ น่าเห็นใจยิ่งนัก

 

1. ปัจจุบันค่าเดินทางจากรังสิต-หัวลำโพง โดยรถไฟชานเมืองถูกมาก !

ผู้ที่อยู่อาศัยแถวรังสิตและทำงานแถวหัวลำโพง หากต้องการประหยัดค่าเดินทางและเวลา มักเลือกเดินทางโดยรถไฟชานเมืองจากสถานีรังสิตเข้าสู่สถานีหัวลำโพง ซึ่งมีค่าโดยสารถูกเพียง 6 บาทเท่านั้น ใช้เวลาเดินทางประมาณ 60 นาที เป็นการลดภาระค่าครองชีพ และประหยัดเวลาเดินทางได้อย่างดี

2. หากห้ามไม่ให้รถไฟชานเมืองวิ่งเข้า-ออกหัวลำโพง ผู้โดยสารจะทำอย่างไร ?

หากกระทรวงคมนาคมห้ามไม่ให้รถไฟวิ่งเข้า-ออกสถานีหัวลำโพง โดยให้ผู้โดยสารรถไฟชานเมืองลงรถไฟที่สถานีบางซื่อ เขาต้องเสียค่าโดยสารจากสถานีรังสิต-สถานีบางซื่อ 4 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที จากนั้นเขาจะต้องเดินทางต่อไปยังสถานีหัวลำโพง ถ้าเขาต้องการไปให้ทันเวลาทำงาน เขาต้องใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือ MRT จากสถานีบางซื่อ-สถานีหัวลำโพง ค่าโดยสาร 42 บาท ใช้เวลาประมาณ 30 นาที แต่เขาต้องเสียเวลารอขึ้นรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่สถานีบางซื่ออีกประมาณ 10-15 นาที

 

 

ดังนั้น เขาต้องเสียค่าเดินทางจากสถานีรังสิต-สถานีหัวลำโพง รวมทั้งหมด 46 บาท (เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เขาเสียเพียง 6 บาท) รวมค่าเดินทางไป-กลับ 92 บาทต่อวัน ค่าเดินทางนี้ยังไม่รวมค่ารถมอเตอร์ไซค์ และ/หรือค่ารถเมล์ ทำให้เป็นภาระหนักในการดำรงชีพของเขา

3. ผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายอื่นก็อ่วมเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างข้างต้นเป็นการเดินทางของผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายเหนือและสายอีสานเท่านั้น สำหรับผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายใต้ หากเขาต้องลงรถไฟที่สถานีบางซื่อ เขาก็ต้องเดินทางต่อไปให้ถึงสถานีหัวลำโพง เช่นเดียวกันกับผู้โดยสารรถไฟชานเมืองสายตะวันออก หากเขาต้องลงรถไฟที่สถานีมักกะสัน เขาก็ต้องเดินทางต่อไปให้ถึงสถานีหัวลำโพง ทำให้เขาต้องเสียค่าเดินทางและเวลาเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก

4. รถไฟชานเมืองบางขบวนต้องจอดที่ชานเมือง ไม่ให้เข้าบางซื่อ !

การรถไฟฯ วางแผนที่จะให้รถไฟชานเมืองสายเหนือและสายอีสานบางขบวนจอดที่สถานีดอนเมือง สายใต้บางขบวนจอดที่สถานีตลิ่งชัน ไม่ให้เข้าสถานีบางซื่อ จากสถานีดอนเมืองหรือสถานีตลิ่งชัน ผู้โดยสารจะต้องใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงวิ่งเข้าสู่สถานีบางซื่อ และจากสถานีบางซื่อจะต้องใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินวิ่งเข้าสู่สถานีหัวลำโพง ทำให้ต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้นอีกมาก

\"สามารถ ราชพลสิทธิ์ \" ย้ำ อย่าเท !  ผู้โดยสารรถไฟ แบกต้นทุนค่าโดยสารพุ่ง6เท่า

เช่น เดิมเสียค่าเดินทางจากดอนเมือง-หัวลำโพง โดยรถไฟชานเมือง 5 บาท แต่ถ้าใช้รถไฟฟ้าสายสีแดงจากดอนเมือง-บางซื่อ จะเสียค่าโดยสาร 33 บาท และใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจากบางซื่อ-หัวลำโพง ค่าโดยสาร 42 บาท รวมเป็นค่าเดินทางจากดอนเมือง-หัวลำโพง 75 บาท (เพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยเสียเพียง 5 บาท) รวมค่าเดินทางไป-กลับ 150 บาทต่อวัน ค่าเดินทางนี้ยังไม่รวมค่ารถมอเตอร์ไซค์ และ/หรือค่ารถเมล์

 

 

5. ผู้โดยสารที่เคยลงรถไฟที่สามเสน รพ.รามาธิบดี และยมราช จะเดือดร้อน !

ผู้โดยสารรถไฟชานเมืองที่เคยลงรถไฟที่สถานีสามเสน ป้ายหยุดรถ รพ.รามาธิบดี และป้ายหยุดรถยมราชจะเดือดร้อน เพราะไม่สามารถลงรถไฟรายทางได้อีกต่อไป เนื่องจากจะไม่มีรถไฟวิ่งเข้าหัวลำโพง ทำให้เขาต้องเสียค่าเดินทางและเวลาเพิ่มขึ้น น่าเห็นใจมากโดยเฉพาะผู้ที่ต้องเดินทางมาหาหมอที่ รพ.รามาธิบดี

6. รถไฟทางไกลทุกขบวนต้องจอดที่บางซื่อ

รถไฟทางไกลสายเหนือ สายอีสาน และสายใต้ทุกขบวนจะต้องจอดที่บางซื่อ บางขบวนต้องจอดที่สถานีบางซื่อเก่า บางขบวนต้องจอดที่สถานีบางซื่อใหม่ จากสถานีบางซื่อผู้โดยสารที่เคยลงรถไฟที่สถานีสามเสน และสถานีหัวลำโพง จะใช้รถอะไรเพื่อให้สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางได้ ผู้โดยสารเหล่านี้มีสัมภาระมาด้วย หากจะใช้รถไฟฟ้าก็คงไม่สะดวก เพราะในชั่วโมงเร่งด่วนรถไฟฟ้าจะมีผู้โดยสารแน่น ทำให้เขาต้องรอรถไฟฟ้านาน ถ้าจะใช้รถแท็กซี่จะต้องเสียค่าโดยสารแพง

7. ข้อเสนอแนะ

ผมขอเสนอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาดังนี้

7.1 ให้รถไฟวิ่งเข้า-ออกหัวลำโพงได้ ไม่ต้องห่วงว่าจะทำให้รถติดที่จุดตัดระหว่างทางรถไฟกับถนน เพราะการรถไฟฯ กำลังจะก่อสร้างทางรถไฟใต้ดินจากบางซื่อ-หัวลำโพง ทำให้ไม่มีจุดตัด

7.2 ใช้สถานีหัวลำโพงควบคู่กับสถานีกลางบางซื่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสาร ใครอยู่ใกล้หัวลำโพงก็ใช้หัวลำโพง ใครอยู่ใกล้บางซื่อก็ใช้บางซื่อ

ทั้งหมดนี้ ด้วยความห่วงใยผู้โดยสารรถไฟทุกคน ไม่อยากเห็นใครต้องถูกเท !