เกษตรฯ เตรียมขนสินค้าเกษตรบุกตลาดเส้นทางรถไฟสายใหม่

29 พ.ย. 2564 | 08:28 น.
อัปเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2564 | 15:30 น.

กระทรวงเกษตรฯ กางแผน เส้นทางรถไฟลาว-จีน เป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ หลังเปิดหวูดขบวน ปฐมฤกษ์ 2 ธ.ค.นี้ “โฆษก” แถลง พร้อมใช้ประโยชน์ หลังเปิดหวูดขบวนปฐมฤกษ์ 2 ธ.ค. ระบุกลุ่มสินค้าที่จะได้รับอานิสงส์เพิ่มยอดขาย นำโดย ผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา สินค้าปศุสัตว์ และ ข้าว

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรองรับการให้บริการสินค้าเกษตร ผ่านเส้นทางรถไฟลาว - จีน ซึ่งจะมีการเปิดตัวเดินขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ ในวันที่ 2 ธันวาคมนี้ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  มีความพร้อมและสามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการในการส่งออก - นำเข้าสินค้าเกษตรได้ทันที หากรัฐบาลจีน และ สปป.ลาว เปิดให้ใช้เส้นทางรถไฟลาว - จีน อย่างเป็นทางการ

 

สำหรับขบวนปฐมฤกษ์ ซึ่งจะเปิดใช้เส้นทางรถไฟลาว - จีน ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นั้น ในส่วนของการขนส่งสินค้า ระยะแรก จะให้บริการเฉพาะการขนส่งสินค้าเท่านั้น เน้นเฉพาะรูปแบบสินค้าเทกองของบริษัทจากจีนที่เข้าไปลงทุน ใน สปป.ลาว เช่น ยางพารา มันสำปะหลังแห้ง เกลืออุตสาหกรรม และสินแร่ เป็นต้น เส้นทางรถไฟ

 

 

โดยขณะนี้ ยังมีกลุ่มสินค้าเกษตรที่ยังไม่สามารถนำเข้าไปยังจีนผ่านด่านรถไฟโม่ฮาน 8 ประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำแช่เย็น ธัญพืช ผลไม้ สัตว์น้ำเพื่อการบริโภค ต้นกล้า ไม้ซุง และสินค้าสัตว์และพืชที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากสินค้าดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบ ณ สถานที่ควบคุมตรวจสอบเฉพาะสำหรับสินค้านำเข้าบริเวณด่านรถไฟโม่ฮานของจีน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตรวจรับสถานที่จากสำนักงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of China Customs-GACC)              

อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของลาว-จีน ประกาศให้มีการขนส่งสินค้าอย่างเป็นทางการแล้ว เชื่อมั่นว่า ผู้ประกอบการไทยสนใจจะส่งออกสินค้าเกษตรด้วยรถไฟมากขึ้นอย่างแน่นอน ทั้งนี้ จีน และ สปป.ลาว ได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2568 จะมีการขนส่งสินค้าทุกประเภทผ่านเส้นทางรถไฟดังกล่าว 8 ล้านตันต่อปี และเพิ่มเป็น 15 ล้านตันต่อปี ในปี 2573 และจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2583 หรือ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12.5 ต่อปี

 

โดยกระทรวงเกษตรฯ จะติดตามความคืบหน้าของความพร้อมในเส้นทางขนส่งนี้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด และจะแจ้งให้ทราบทันทีที่มีการประกาศ/อนุญาตให้ใช้เส้นทางขนส่งสินค้าอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ผลไม้ ได้รับอานิสงส์สูงสุด

 

สำหรับการใช้บริการขนส่งสินค้าเกษตรที่จะใช้เส้นทางรถไฟลาว – จีน ของผู้ประกอบการไทยนั้น จะเป็นการใช้เส้นทางจากด่านหนองคายข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ไปจนถึงสถานีขนส่งสินค้าเวียงจันทน์ใต้ เพื่อโหลดสินค้าขึ้นรถไฟสายลาว-จีนส่งไปยังปลายทางที่จีน ซึ่งการขนส่งด้วยรถไฟสามารถร่นระยะเวลาการขนส่งได้จาก 2 วันเหลือ 10-15 ชั่วโมง และลดการสูญเสียจากการขนส่งทางรถบรรุทุกอย่างแน่นอน

 

แต่ในระยะแรก อาจยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากต้องมีการกำหนดและหารือในรายละเอียดต่างๆ ร่วมกัน อาทิ การตรวจสอบ ณ สถานที่ควบคุมตรวจสอบเฉพาะสำหรับสินค้านำเข้าบริเวณด่านรถไฟโม่ฮานของจีนที่ยังไม่พร้อมให้บริการ การลดขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากร ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า จำนวนขบวนเดินรถไฟต่อวัน และลักษณะตู้คอนเทนเนอร์ที่รองรับในการขนส่ง โดยคาดว่าสินค้าเกษตรที่จะขนส่งด้วยเส้นทางรถไฟลาว – จีน มากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสินค้าผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา สินค้าปศุสัตว์ และข้าว

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการลงนามในพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกและนำเข้าผลไม้ผ่านประเทศที่สามระหว่างไทย - จีน ซึ่งปัจจุบันจุดนำเข้าและส่งออกผลไม้ระหว่างไทยกับจีน มีทั้งสิ้น 16 ด่าน แบ่งเป็น ด่านนำเข้า/ส่งออกของจีน 10 ด่าน ได้แก่ โหย่วอี้กว่าน โม่ฮาน ตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านรถไฟโม่ฮาน เหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว หลงปัง เทียนเป่า และสุยโข่ว ด่านนำเข้า/ส่งออกของไทย 6 ด่าน ได้แก่ เชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด บึงกาฬ และหนองคาย

ประกาศความพร้อม

 

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) และแนวทางการพัฒนาระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อรองรับการเปิดให้บริการเส้นทางรถไฟสายไทย-ลาว-จีนในอนาคต ประกอบด้วย 4 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1) การเตรียมความพร้อมของด่านและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการให้บริการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตร 2) การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร และอัตรากำลังประจำด่าน 3) การพัฒนาและเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์เกษตรและการตรวจรับรองสินค้าเกษตร และ (4) กฎ ระเบียบ และวิธีปฏิบัติเพื่อรองรับการให้บริการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตร ณ จุดผ่านแดน

 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟลาว–จีน มีกำหนดเปิดใช้เส้นทางอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันชาติของ "สปป.ลาว"  มีระยะทางประมาณ 427 กิโลเมตร โดยสถานีรถไฟของฝั่ง สปป.ลาว ช่วงแรกมี 11 สถานี เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร 10 สถานี ได้แก่ กรุงเวียงจันทน์ โพนโฮง วังเวียง กาสี หลวงพระบาง เมืองงา เมืองไซ นาหม้อ นาเตย และบ่อเต็น และเป็นสถานีขนส่งสินค้า 1 สถานี คือ สถานีเวียงจันทน์ใต้  ส่วนสถานีรถไฟฝั่งจีน มี 14 สถานี ได้แก่ โม่ฮาน เหมิ่งล่า ก๋านหล่านป้า สิบสองปันนา เหมืองหย่าง ผูเอ่อร์ หนิงเอ่อร์ โม่เจียง หยวนเจียง หลัวหลี่ เอ๋อซาน เหยียนเหอ ยวี่ซีตะวันตก และนครคุนหมิง