วันนี้ (29 พ.ย. 64) นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเสวนาภายใน งาน NFI Talk ครั้งที่ 1 “เดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทย ปี 2565” ในวาระครบรอบ 25 ปีของสถาบันอาหาร (National Food Institute) โดยมี ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติและทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมในงานเสวนาผ่านระบบ ZOOM
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนสถานการณ์ที่มีต่อประเด็นท้าทายใหม่ๆ ในการเดินหน้าอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยปี 2565 และในอนาคต และจุดประกายแนวคิดในดำเนินธุรกิจและปรับกลยุทธ์องค์กร พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในโลกยุค Next normal
การเสวนามีประเด็นในหัวข้อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และบทบาทของภาครัฐต่อทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและอาหารของประเทศไทยในปี 2565 และระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานของภาคธุรกิจ กลยุทธ์การแข่งขันและการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมอาหารในโลกยุคหลังโควิด-19 และสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจและแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารปี 2565
เทรนด์ธุรกิจโลกหลังยุคโควิด-19 และโอกาสผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทย ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจากการดำเนินงานของภาครัฐเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา และทิศทางและเป้าหมายในการขับเคลื่อนภาคเกษตรและเกษตรแปรรูปของประเทศไทยปี 2565
นายอลงกรณ์ กล่าวว่า แม้จะเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคจากมาตรการปัองกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ของประเทศคู่ค้า แต่ด้วยการขับเคลื่อนปฏิรูปภาคการเกษตรด้วยนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ ตลาดตามยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ บนความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
โดยเฉพาะสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สถาบันเกษตรกรและภาควิชาการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทย ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรมขยายตัวแบบต่อเนื่องและส่งแรงดันต่อไปถึงปีหน้า สะท้อนผลสำเร็จจากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตร10 เดือน(ม.ค.-ตุลาคม)มีมูลค่าถึง677,955 ล้านบาท เติบโต24.5 %และเป็นการขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือนเฉพาะเดือนตุลาคมส่งออก66,048 ล้านบาทขยายตัว 22 %
ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 10 เดือนมีมูลค่า494,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้น3.8 % และขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกันโดยเฉพาะเดือนตุลาคมส่งออก56,543 ล้านบาทขยายตัว13 % อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการในมิติใหม่ ได้แก่
การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การพัฒนาภาคเกษตรกรรมโดยการใช้เทคโนโลยีตลอดห่วงโซ่อุปทานและมูลค่า(Supply-Value Chain)ตั้งแต่การผลิตจนถึงการตลาด การบริหารเชิงรุกแบบบูรณาการกับทุกภาคส่วนและการส่งเสริมการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์
การพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตร การขับเคลื่อนระบบPre order ระบบประกันสินค้า ระบบตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability)และการสร้างแบรนด์สินค้าเกษตร(Branding)ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพและและมาตรฐานสินค้าเกษตร
และการสนับสนุนส่งเสริมสินค้าใหม่ๆ และตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเช่น อาหารแห่งอนาคต(Future food) อาหารฮาลาล(Halal food) และโปรตีนทางเลือกใหม่จากพืชและแมลง
ประการสำคัญคือ การพัฒนาโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่องจนสามารถเปิดด่านการส่งออกผลไม้ระหว่างไทยกับจีนที่ผ่านประเทศที่3ได้สำเร็จเพิ่มเป็น16ด่านและการเตรียมความพร้อมในการใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทยขนส่งสินค้าไปทุกมณฑลของจีนและเชื่อมโยงไปเอเซียกลาง เอเซียใต้ ตะวันออกกลางและ ยุโรป
ปีนี้และปีหน้า เรายังเดินหน้าต่อเนื่องในการสร้างฐานและกระจายการแปรรูปอุตสาหกรรมเกษตรภายใต้โครงการ1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรมครอบคลุม 18 กลุ่มจังหวัด โครงการอุตสาหกรรมอาหารโลก(Global Food Valley ) โครงการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่และวิสาหกิจชุมชนเป็นสตาร์ทอัพเกษตรและเอสเอ็มอีเกษตร
โครงการเกษตรแม่นยำ 2 ล้านไร่ ในการใช้เกษตรอัจฉริยะ (smart farming) เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร รวมทั้งการปฏิรูปการบริหารและการบริการของกระทรวงเกษตรฯ และการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใน 4 โครงการเรือธง (Flagship project) ได้แก่ศูนย์ AIC (ศูนย์เทคโนโลยีเกษครและนวัตกรรม) ศูนย์ Big Data โครงการ Quick Win22 หน่วยงานและโครงการวันแอป (One App) โดยเชื่อมั่นว่าปี2565 จะเป็นปีแห่งโอกาสของครัวไทย ครัวโลก ภายใต้อุตสาหกรรมอาหารฐานเกษตรเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารท็อปเทน (Topten)ของโลกและอันดับ2ของเอเซียตามนโยบายของรัฐบาล
ในตอนท้าย นายอลงกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังเสนอแนะให้ยกระดับสถาบันอาหารจากรูปแบบมูลนิธิ เป็นองค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Organization) และวางโครงสร้างลงไปให้ครอบคลุม18กลุ่มจังหวัดจะข่วยให้การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารบนฐานเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น