ความคืบหน้า “โครงการประกันรายได้ยางพารา” นับตั้งแต่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยที่ประชุมให้ความเห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ล่าสุดมีความคืบหน้า ตามลำดับ
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า “โครงการประกันรายได้ยางพารา” วันนี้ เป็นข่าวดี ที่จะแจ้งแก่พี่น้องชาวสวนยางทั้งประเทศ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบ "โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 " สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว ระยะประกันรายได้ 2 เดือน ตั้งแต่ตุลาคม – พฤศจิกายน 2565 แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวนร้อยละ 60 และคนกรีดยางร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ โดยกำหนดราคาประกันรายได้ ดังนี้
• ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม
• น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กิโลกรัม
• ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) 23 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้การใช้เงิน “โครงการประกันรายได้ยางพารา” จ่ายส่วนต่าง “ประกันราคายางพารา” ทั้ง 3 ชนิด ประมาณการใช้วงเงินรวมงบประมาณทั้งสิ้น 7,643,857,284.153 บาท มีเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 จำนวน 1,880,458 ราย
นายณกรณ์ กล่าวอีกว่า ในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะมีข่าวดีแน่นอน รัฐบาลให้หลักประกันความมั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางภายใต้มาตรการการประกันรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยาง นับเป็นอีกหนึ่งมาตรการในเรื่องของการดูแลแก่เกษตรกรพี่น้องชาวสวนยางของรัฐบาล
สำหรับหลักเกณฑ์ข้อกำหนดโครงการ "ประกันรายได้ยางพารา" เฟส 4 ในการคำนวณปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวน 20 กิโลกรัม (ผลผลิตยางแห้ง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่) และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวน 40 กก. (ผลผลิตยาง/ไร่/เดือน) x จำนวนไร่ (รายละไม่เกิน 25 ไร่)
"โครงการประกันรายได้ยางพารา” ระยะที่ 4 มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.จำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย (เจ้าของสวน ผู้เช่า ผู้ทำ 1,372,865 ราย และคนกรีดยาง 231,514 ราย) คิดเป็นพื้นที่ปลูกยาง รวม 18,183,764.59 ไร่ เป็นโครงการที่เดินมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวสวนยางมีรายได้สม่ำเสมออย่างทั่วถึง นับเป็นมาตรการทางอ้อม ที่นำมาใช้แทนการแทรกแซงราคายาง เพื่อลดการบิดเบือนกลไกตลาดในอนาคต
ผู้ว่าการ กยท. กล่าวถึงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยาง ใน “โครงการประกันรายได้ยางพารา” ระยะที่ 4 ว่า เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลสวนยางไว้กับ กยท. สามารถตรวจสอบสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 4 ได้ที่ลิงค์ http://www.raot.co.th/gir/index/
ทั้งนี้ เกษตรกรยางพารา ชาวสวน สามารถ ตรวจสอบสถานะการโอนเงินประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา แบบอัพเดทได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่ https://chongkho.inbaac.com/