กุ้งไทย ได้รับการยอมรับจากตลาดโลก ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย การไร้สารตกค้าง และยาปฏิชีวนะ ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มา ทั้งหมดเป็นผลจากความร่วมมือของภาครัฐ เกษตรกร และผู้ประกอบการแปรรูป ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี จนสามารถกล่าวได้ว่า ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตกุ้งตลอดทั้งห่วงโซ่
ตั้งแต่การลงทุนพัฒนาปรับปรุงพ่อแม่พันธุ์และลูกกุ้ง จนได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุด โตเร็ว ทนทานต่อโรค การมีระบบการเลี้ยงที่ดีและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง โดยมีกรมประมงเป็นผู้กำกับดูแลมาตรฐานตลอดกระบวนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นการเพาะฟักลูกกุ้ง การเพาะเลี้ยง สถานประกอบการแปรรูป ตลอดจนการผลิตที่ใช้แรงงานถูกกฎหมาย ตอบรับเทรนด์เกษตรยั่งยืน เพิ่มความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ "กุ้ง" จากประเทศไทย
ทว่า สถานการณ์ผลิตกุ้งของประเทศไทยต้องประสบปัญหาโรคกุ้งมากว่า 2 ปี ทำให้ปีนี้คาดการณ์ได้ว่าจะมีปริมาณผลผลิตกุ้งอยู่ที่ 2.8 แสนตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 3 แสนตัน ส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของกุ้งไทยลดลง สวนทางกับสถานการณ์ของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย และอเมริกาใต้ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เอกวาดอร์ และอาร์เจนตินา ที่มีการขยายการผลิตกุ้งได้อย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้ ในห่วงโซ่การผลิตกุ้ง มีข้อต่อสำคัญคือผู้ประกอบการแปรรูปหรือห้องเย็น ซึ่งต้องการปริมาณกุ้งมาใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเพื่อส่งออก เมื่อกุ้งไทยอาจไม่เพียงพอในช่วงปีนี้ ประจวบเหมาะกับคนไทยบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้หลายห้องเย็นแก้ปัญหาด้วยการนำเข้ากุ้งจากประเทศดังกล่าวทดแทน และจากข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศพบว่าในปีนี้ไทยมีการนำเข้ากุ้งสด แช่เย็นและแช่แข็ง ระหว่างมกราคม-กันยายน สูงถึง 35,344 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 116% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นกุ้งนำเข้าจากเอกวาดอร์และอาร์เจนตินาถึง 70%
การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของห้องเย็นด้วยการนำเข้ากุ้งต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึงกว่าเท่าตัวนี้ เป็นเพราะระดับราคาที่ถูกกว่ากุ้งไทยและไม่มีการควบคุมจำนวนนำเข้าเท่าที่จำเป็น แต่วิธีนี้ไม่ใช่หนทางที่ยั่งยืนและอาจกระทบการพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งของประเทศไทยได้หากเราเคยชินกับการพึ่งพากุ้งจากต่างชาติและละเลยการสนับสนุนส่งเสริมเกษตรกรไทย
“กรมประมง” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในประเด็นนี้ ตั้งแต่การกำหนดโควต้าที่ชัดเจน ป้องกันไม่ให้กุ้งนำเข้ามากระทบถึงเกษตรกร โดยต้องตรวจสอบที่มาของกุ้งรวมถึงจำนวนกุ้งนำเข้าว่าเข้ามาเท่าใด และกำกับดูแลให้กุ้งทั้งหมดต้องแปรรูปส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศเท่านั้น ป้องกันการปล่อยกุ้งกระจายขายในประเทศซึ่งกระทบเสถียรภาพราคาและรายได้ของเกษตรกรไทย ทั้งนี้กรมควรมีเจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบใกล้ชิดและมีบทลงโทษผู้นำเข้าที่ละเมิดมาตรการด้วย
ขณะเดียวกันในฐานะผู้กำกับดูแลกระบวนการผลิตกุ้ง กรมประมงควรกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ชัดเจน ด้วยเป้าหมายผลผลิตที่ไม่ควรต่ำกว่า 400,000 ตัน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเกษตรกรไทยให้สามารถผลิตกุ้งคุณภาพได้เพียงพอต่อความต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพากุ้งนำเข้า ที่สำคัญต้องแก้ไขปัญหาโรคกุ้งให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และกำหนดมาตรฐานการเลี้ยงกุ้งยั่งยืน โดยส่งเสริมให้เกษตรกรทั้งรายเล็ก รายใหญ่ ทำฟาร์มมาตรฐานและใช้เทคโนโลยีเลี้ยงกุ้งที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผลผลิตที่ได้เป็นกุ้งคุณภาพ
พร้อมทั้งต่อยอดส่งเสริมด้านสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่จะช่วยให้เกษตรกรสามารถขยายการผลิต เพิ่มปริมาณกุ้งให้เพียงพอตอบโจทย์ความต้องการของห้องเย็นหรือผู้แปรรูปกุ้ง ให้มีวัตถุดิบกุ้งชั้นดี สะอาด ปลอดภัย ไม่มีสารตกค้าง มาแปรรูปประทับตรากุ้งจากประเทศไทย ส่งขายไปทั่วโลกได้อย่างมั่นใจ ยิ่งถ้าหากผู้แปรรูปสามารถถระบุขนาดที่ต้องการเป็นข้อมูลให้เกษตกรด้วย ก็จะเป็นการผนึกกำลังกันส่งเสริมการส่งออกกุ้งให้ตรงตามความต้องการของตลาดด้วย
การขายกุ้งให้ได้ราคาดีเป็นที่ปรารถนาของทุกคน ไม่ว่าคน ๆ นั้นจะเป็นเกษตรกรหรือห้องเย็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชาติ ดังนั้นการร่วมกันรักษาชื่อเสียงด้านคุณภาพของกุ้งไทยและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมนี้ยืนหยัดได้อย่างเข้มแข็ง ผ่านการสนับสนุนเกษตรกรไทยอย่างจริงจังจึงเป็นสิ่งจำเป็น ขอเพียงทุกภาคส่วนมีวิสัยทัศน์และความจริงใจในการร่วมกันแก้ปัญหา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างเป็นระบบ ช่วยกันสร้างเสถียรภาพและประคับประคองให้ทุกคนยืนอยู่ได้ด้วยการพึ่งพากันเองภายในประเทศ “อุตสาหกรรมกุ้งไทย” ก็จะกลับมาช่วยฟื้นเศรษฐกิจชาติได้อีกครั้งอย่างยั่งยืน