รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาบริเวณสถานีรถไฟหนองคาย จ.หนองคายว่า ปัจจุบัน รฟท. ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอราคาค่าเช่าพื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์ตามศักยภาพในการทำโรงพักสินค้าที่สถานีหนองคาย รวมพื้นที่ประมาณ 80 ไร่เป็นการชั่วคราวแล้ว มีราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 2.75 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) กำหนด 3 ปี แบ่งพื้นที่เป็น 4 แปลง ซึ่งการเสนอราคาแต่ละแปลงจะแยกจากกัน โดยผู้เสนอราคาแต่ละราย สามารถเสนอราคาแปลงใดแปลงหนึ่งได้เพียง 1 แปลงเท่านั้น ที่ผ่านมาจากการเปิดจำหน่ายซองเสนอราคา พบว่า มีเอกชนสนใจซื้อซองจำนวน 2 ราย แต่เมื่อถึงกำหนดให้ยื่นซองเสนอราคา เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันกลับไม่มีเอกชนรายใดมายื่นซองเสนอราคา
“สาเหตุส่วนหนึ่งที่ไม่มีเอกชนมายื่นซองเสนอราคานั้น คาดว่าเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงระบาดต่อเนื่อง ประกอบกับปริมาณขนส่งสินค้าอาจจะยังไม่คุ้มทุน เพราะปัจจุบันสถานีรถไฟหนองคายยังมีปริมาณขนส่งสินค้าไม่มากนัก โดยเฉพาะในช่วงเกิดโควิด-19 ปริมาณสินค้า และประเทศลาวปิดประเทศ ทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศลดน้อยลงมาก อย่างไรก็ตามหลังจากนี้คงต้องดูอีกสักระยะว่าจะมีเอกชนรายใดมีความต้องการพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ หากมีก็จะเปิดให้เสนอราคาค่าเช่าพื้นที่อีกครั้ง”
รายงานข่าวจาก รฟท. กล่าวต่อว่า กรณีที่ไม่มีเอกชนรายใดมายื่นเสนอราคาค่าเช่าพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ รฟท. แต่อย่างใด เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวใช้เป็นย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) ขนถ่ายสินค้า เบื้องต้น รฟท. ได้เตรียมดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณลานยกขนสินค้า (โรยหินคลุกและบดอัดความหนา 10 เซนติเมตร) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ที่จะมาใช้งานด้วย คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ.65
ส่วนการพัฒนาบริเวณสถานีรถไฟหนองคาย เป็นการพัฒนาในระยะเร่งด่วน เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 ซึ่งปัจจุบัน รฟท. เปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง(สปป.ลาว) ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดยให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง ส่วนอีก 1 แปลงจะใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งนี้หากทั้ง 4 แปลงมีเอกชนเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ จะช่วยเพิ่มและพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟให้มีประสิทธิภาพ และมาตรฐานสากล รวมทั้งทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งทางรถไฟ รองรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางรถไฟระหว่างประเทศไทย-ลาว-จีนด้วย
ทั้งนี้การพัฒนาในระยะยาวนั้น ปัจจุบันรฟท. อยู่ระหว่างการพิจารณาพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย รองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ พร้อมทั้งเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาวและจีน โดยจะพัฒนาเป็นศูนย์ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) และ CY ปัจจุบัน รฟท. อยู่ระหว่างของบประมาณ เพื่อดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ(PPP) โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จ.หนองคาย ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 คาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนแล้วเสร็จใน 2 ปี