นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการ หอการค้าไทย-จีน เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นจากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทยจีน และประธาน ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทยจีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทยจีน จำนวน 370 คน ระหว่างวันที่ 16 – 26 พฤศจิกายน 2564 หรือช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เพื่อคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 1 ปี 2565
สำหรับประเด็นพิเศษได้ให้ความสำคัญกับ 2 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจจากของโรคระบาดโควิด-19 (COVID-19) และการจัดการทางธุรกิจ และ 2.ความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจหลังมีสัญญาณเงินเฟ้อ
โดยการสำรวจครั้งนี้เริ่มมีข่าวการกลายพันธุ์ COVID-19 โอมิครอน (Omicron) ในช่วงวันสุดท้ายของระยะเวลาการสำรวจ การตีความการสำรวจต้องมีความระมัดระวังและคำนึงถึงเงื่อนไขดังกล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนแรกได้มีการสอบถามยอดขายหรือรายได้ของธุรกิจในช่วงปลายปี 2564 ว่าได้ส่งสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหรือยัง ผลการสำรวจสรุปได้ว่า กว่า 60% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีความเห็นว่า การเปิดประเทศส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่การที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาเข้าไทยนั้น ยังห่างไกล อย่างน้อยต้องเลยกลางปีหน้าไปแล้ว ในไตรมาส 3 (42.17%) ไตรมาส 4 (22.22%) หรือนานกว่านั้น 17.95% (รวมแล้วกว่า 80%)
นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่าผลสำรวจที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ จากสถานะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเมื่อมองไปในอนาคตอันใกล้ คือ 3 เดือนข้างหน้า ผู้ประกอบการได้วางแผนการจ้างงาน เมื่อเทียบกับตอนก่อนเกิดวิกฤโควิดเอาไว้อย่างไร โดยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 46.44% ตอบว่ายังคงวางแผนการจ้างงานเพียง 1 ใน 3 ของอัตราการจ้างงานเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด
ส่วน 15.95% ของผู้ตอบ ยังมีแผนการจ้างงานในระดับ 30%-60% และที่อัตราการจ้างงานใกล้เคียงกับก่อนวิกฤตโควิด คือ 60%-100% มีเพียง 15.95% สามารถสรุปได้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มที่จะดีขึ้น การจ้างงานเริ่มทยอยกลับมาอีกครั้ง และแรงงานต่างชาติที่ปลอดโควิดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่ต้องรอไปอีกระยะหนึ่งอย่างน้อยผ่านกลางปี 2565 ไปถึงดีขึ้นตามความคาดหวังของผู้ถูกสำรวจ
ด้านนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนจะมีความมั่นใจและเดินทางมาประเทศไทยเมื่อไหร่นั้น นักธุรกิจของหอการค้าไทยจีน 42% 22.2% และ 17.9% ของผู้ถูกสำรวจ คาดว่าจะเริ่มมีการเดินทางในไตรมาสที่สาม ไตรมาสที่สี่ ปี 2565 และต้นปี 2566
อย่างไรก็ดี หากมีการเปิดประเทศแล้วมีการระบาดของโรค COVID-19 เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 73.5% นักธุรกิจหอการค้าไทยจีนมีข้อเสนอแนะว่าอย่างไรคงต้องเปิดประเทศต่อไป แต่จะให้มีการใช้มาตรการเช่นในปัจจุบัน หรือเข้มข้นขึ้น เช่น การปิดบางกิจการ โดยการสำรวจเป็นการคาดการณ์ก่อนที่จะทราบรายละเอียดของการกลายพันธุ์เป็น โควิด สายพันธุ์ โอไมครอน ที่เป็นกระแสความไม่แน่นอนในทั่วโลก
ในส่วนที่สอง ปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น จะเป็นปัจจัยทำให้เกิดเงินเฟ้อที่ผลักดันต่อต้นทุนหรือ cost-push inflation ในระยะยาวยังเป็นความกังวลสูง (54.7%) ถึงสูงมาก (9.69%) จะเป็นสาเหตุให้ผู้ประกอบการ 80% โดยจะปรับราคาสินค้า ภายใน 3 เดือนข้างหน้า (56.13%) โดยอีกประมาณ 25% คิดว่าจะรอไปปรับราคาหลังจาก 3 เดือนไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย จากการสำรวจพบว่า 51% คาดว่าเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 จะดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน ในขณะที่ 27.9% (ของผู้ถูกสำรวจ) คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะทรงๆ ส่วน 12.8% มีความเห็นว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะเติบโตช้าลง ซึ่งผลการประเมินดังกล่าวได้สะท้อนถึงการคาดคะเนการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนในไตรมาสหน้า 55.6% คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังจีนจะเพิ่มขึ้น และ 24.5% ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน
ด้านการคาดคะเนการนำเข้านั้น 57.8% คาดว่าการนำเข้าจากจีนจะเพิ่มสูงขึ้น และ 19.9% การนำเข้าจะทรงตัว การสอบถามความคิดเห็น ด้านการลงทุนของจีนในไทย พบว่า 47.9% การคาดคะเนระหว่างการลงทุนจากจีนจะเพิ่มขึ้น ในภาพรวมแล้วความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทยจีนยังดีอย่างต่อเนื่อง
"จีน เป็นประเทศคู่ค้าอันหนึ่งของไทย เป็นเวลา 9 ปี ติดต่อกัน ส่วนการส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยรอบสิบเดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-ตุลาคม 2564) การส่งออกขยายตัว 26% การเปิดบริการเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน ต้นเดือนธันวาคม นี้ และ การที่ความตกลงอาร์เซป (RCEP) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2565 คาดว่าจะขยายโอกาสการค้าการลงทุนในอนาคตระหว่างไทยและจีน"
อย่างไรก็ตาม สัญญานบวกที่ดี คือ การสำรวจการคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของไทยโดยรวม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 เมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน มากกว่า 60% เห็นว่าจะเพิ่มขึ้น ดีขึ้น และนั่นน่าจะหมายถึงว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปีหน้า คือ ธุรกิจออนไลน์ พืชผลการเกษตร ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง และการบริการสุขภาพ
ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พืชผลการเกษตร และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ จากผลการสำรวจขยายความได้ว่ารากฐานทางด้านการท่องเที่ยว และพืชผลการเกษตรมีความเข้มแข็ง และมีราคาดีในปัจจุบัน อาทิ ยาง มันสำปะหลัง และน้ำมันปาล์ม หากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และปัญหาการประกอบธุรกิจได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว ทั้งสองธุรกิจจะเป็นที่พึ่งทางด้านรายได้ของไทยในไตรมาสหน้า
การคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสแรกปีหน้าเมื่อเทียบกับไตรมาสปัจจุบัน 59.5% คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะปรับตัวดีขึ้น
สำหรับการสำรวจดังกล่าวนั้น หอการค้าไทย-จีน ได้ดำเนินการร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย